ภาพเก่าสองภาพถูกตัดต่อและแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็น 'การโจมตีในทะเลแดง'

  • เผยแพร่ วัน 6 กุมภาพันธ์ 2024 เวลา 07:53
  • อัพเดตแล้ว วัน 12 กุมภาพันธ์ 2024 เวลา 04:21
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนได้มุ่งเป้าไปที่เรือขนส่งในทะเลแดง ซึ่งส่งผลให้สหรัฐอเมริกากับอังกฤษผนึกกำลังโจมตีตอบโต้ อย่างไรก็ตาม ภาพที่ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ซ้ำๆ นั้นไม่ได้เป็นภาพเรือยิงขีปนาวุธในทะเลแดงตามคำกล่าวอ้าง ที่จริงแล้ว ภาพดังกล่าวถูกตัดต่อ และดัดแปลงจากภาพเก่าสองภาพที่ถูกเผยแพร่ก่อนหน้านี้ในปี 2553 และ 2558

"ชั่วโมงเรียนมาถึงแล้ว ทีมเยเมนของเรากำลังสอนบทเรียนที่พวกเขาไม่เคยเห็นที่สนามกีฬา Red Sea ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายภาพที่ถูกตัดต่อภาพหนึ่งเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 

โพสต์นี้ยังแชร์ข้อความภาษาอาหรับที่กล่าวอ้างในลักษณะเดียวกัน

ภาพถ่ายดังกล่าวแสดงให้เห็นเรือหมายเลข "76" ลำหนึ่งยิงขีปนาวุธใส่เรือลำอื่นที่มีธงชาติเยเมนปรากฏอยู่

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์ภาพตัดต่อ

กลุ่มกบฏฮูตีเป็นส่วนหนึ่งของ "อักษะแห่งการต่อต้าน" ที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรของอิหร่านเพื่อต่อต้านอิสราเอลและชาติตะวันตก โดยในเดือนพฤศจิกายน 2566 กลุ่มกบฏดังกล่าวได้เริ่มโจมตีเรือสินค้าที่แล่นผ่านทะเลแดง

กลุ่มกบฏกล่าวว่าจะโจมตีเรือที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอล เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาที่ได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

การโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตีส่งผลให้บริษัทเดินเรือบางแห่งต้องอ้อมไปทางทวีปแอฟริกาแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าหลักและคิดเป็นสัดส่วนการค้าทางทะเลประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ของโลก

สหรัฐอเมริกากับอังกฤษได้ผนึกกำลังเพื่อตอบโต้กลุ่มกบฏฮูตี ส่งผลให้กลุ่มดังกล่าวประกาศว่าผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และอังกฤษเป็น "เป้าหมายที่มีความชอบธรรม"

ภาพตัดต่อภาพเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันในโพสต์ภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และโพสต์ภาษาอาหรับที่นี่  นี่ และ นี่

ช่องแสดงความคิดเห็นในโพสต์เหล่านี้เผยให้เห็นว่าบางคนเชื่อว่าภาพดังกล่าวมาจากการโจมตีในทะเลแดงจริง

"นักรบยิงเรือสินค้า" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊รายหนึ่งเขียนแสดงความคิดเห็น 

"เยเมนสุดยอดคับ" ผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายระบุ

ภาพถูกดัดแปลง

การค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิล พบว่าภาพเรือหมายเลข "76" นั้นถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าว Associated Press (AP) ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2553 (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายใต้ภาพระบุว่า "เรือรบลำใหม่ของอิหร่านหรือ "จามารัน" ได้ยิงขีปนาวุธนูร์ ซึ่งเป็นขีปนาวุธโจมตีเรือรบใหญ่จากระยะไกล ที่ถูกผลิตโดยอิหร่านและพัฒนาโดยอิงจากขีปนาวุธ C-802 ของจีน เรือรบลำดังกล่าวกำลังฝึกซ้อมในน่านน้ำทางตอนใต้ของอิหร่าน เมื่อวันอังคารที่ 9 มีนาคม 2553"

ภาพดังกล่าวถูกระบุว่าถ่ายโดยหน่วยงานถ่ายภาพระหว่างประเทศอิหร่าน (International Iran Photo Agency) แต่สำนักข่าว AP ได้ระบุเพิ่มเติมว่าไม่สามารถตรวจสอบเนื้อหา สถานที่ และวันที่ของภาพได้อย่างอิสระ

ภาพดังกล่าวถูกดัดแปลงโดยการเพิ่มภาพเรือหลายลำเข้าไป โดยภาพเรือหลายลำนั้นได้ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์วิกิมีเดีย คอมมอนส์ (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายภาพเขียนว่า เรือเหล่านี้เป็นเรือของกองทัพเรืออิหร่านที่กำลังแล่นอยู่ในช่องแคบฮอร์มุซ เมื่อวันที่ "25–27 กุมภาพันธ์ 2558" โดยระบุเว็บไซต์ของช่างภาพชาวอิหร่านคนหนึ่ง

แม้ AFP ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างอิสระว่าภาพต้นฉบับแสดงเหตุการณ์อะไร แต่เมื่อได้ค้นหาภาพแบบย้อนหลังเพิ่มเติมในทินอาย (TinEye) พบว่าภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ในช่องทางออนไลน์อย่างน้อยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 อย่างน้อย 7 ปีก่อนการโจมตีในทะเลแดง

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มธงชาติเยเมนในภาพที่สองด้วย

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพตัดต่อ (ซ้าย) และภาพเก่า (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบสำคัญที่เหมือนกัน:

Image

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับการโจมตีในทะเลแดงที่นี่  นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา