
วิดีโอระเบิดที่ปั๊มน้ำมันถูกนำมาแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นเหตุการณ์ที่เยเมนถูกสหรัฐอเมริกากับอังกฤษโจมตี
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 09:59
- อัพเดตแล้ว วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2024 เวลา 04:22
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP อินโดนีเซีย
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 ผู้ใช้งานติ๊กตอกบัญชีหนึ่งได้แชร์วิดีโอฉบับหนึ่งที่มีความยาว 13 วินาทีและแสดงภาพเหตุระเบิดในเวลากลางคืน
ข้อความภาษาไทยที่ฝังไว้ในวิดีโอระบุว่า "สงครามเริ่มแล้วเยเมนโดนแล้ว" และผู้ใช้งานติ๊กตอกเขียนคำบรรยายว่า #สงคราม #สหรัฐอเมริกา #เยเมน #กบฏฮูตี #ทะเลแดง #อังกฤษ
คลิปดังกล่าวมีผู้เข้าชมมากกว่า 623,000 ครั้งและได้รับการกดถูกใจกว่า 28,000 ครั้ง

วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จในโพสต์ภาษาไทยทางเฟซบุ๊กที่นี่ และนี่ และ ติ๊กตอกที่นี่ และนี่
โพสต์ที่คล้ายกันยังถูกแชร์ในภาษาอินโดนีเซีย อาหรับ และ อังกฤษ
โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์เพียงหนึ่งวันหลังกองกำลังของอเมริกาและอังกฤษโจมตีใส่เป้าหมายของกลุ่มกบฏฮูตีในประเทศเยเมนเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ในเมืองซานา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเยเมน และเมืองอื่นๆ
หลังกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 และอิสราเอลได้ปฏิบัติการตอบโต้ในฉนวนกาซา กลุ่มกบฏฮูตีได้ยกระดับการโจมตีในทะเลแดง ซึ่งปกติแล้วร้อยละ 12 ของเรือพาณิชย์ทั่วโลกจะแล่นผ่าน โดยกลุ่มฮูตี ซึ่งยึดครองพื้นที่ส่วนหนึ่งในเยเมนเอาไว้ ได้อ้างว่าการโจมตีนั้นเป็นการแสดงจุดยืนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา
อย่างไรก็ตาม วิดีโอที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2567 นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการโจมตีในเยเมนแต่อย่างใด
เหตุระเบิดที่ปั๊มน้ำมัน
จากการค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิล AFP พบวิดีโอเดียวกันถูกเผยแพร่ไว้ในช่องยูทูปของเยเมนเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะเกิดการโจมตีครั้งล่าสุดในปี 2567 (ลิงก์บันทึก)
"เหตุระเบิดที่ปั๊มน้ำมันมูฟาเซอร์ในเมืองซานา" ชื่อวิดีโอระบุเป็นภาษาอาหรับ
ในวันถัดมา วิดีโอดังกล่าวยังถูกแชร์ในเฟซบุ๊กโดยผู้ใช้งานชาวเยเมนคนหนึ่ง โดยคำบรรยายระบุว่า วิดีโอแสดงให้เห็นเหตุระเบิดที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในเมืองซานา (ลิงก์บันทึก)
วิดีโอเดียวกันนี้ยังปรากฏอยู่ในรายงานของสำนักข่าวซินหัวของประเทศจีนเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 โดยระบุว่าคลิปดังกล่าวเผยให้เห็น “เหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในเมืองหลวงของเยเมนที่กลุ่มฮูตีควบคุม” (ลิงก์บันทึก)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ (ซ้าย) กับวิดีโอในยูทูป (กลาง) และวิดีโอจากรายงานของสำนักข่าวซินหัว (ขวา):

รายงานของสำนักข่าวซินหัวอีกฉบับได้อ้างแถลงการณ์ของกลุ่มฮูตีที่ระบุว่าเหตุระเบิดดังกล่าว "น่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรในปั๊มน้ำมัน ซึ่งทำให้รถพ่วงแก๊สในลานปั๊มระเบิด" (ลิงก์บันทึก)
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 สื่อเยเมนที่มีสำนักงานอยู่ในเมืองซานาได้รายงานเกี่ยวกับเหตุระเบิดดังกล่าวด้วย (ลิงก์บันทึก)
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เยเมนถูกโจมตีโดยกองกำลังของสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา