
วิดีโอนี้เป็นภาพจากภัยพิบัตินอกชายฝั่งศรีลังกาในปี 2564 ไม่ใช่เรือของอิสราเอลถูกเยเมนโจมตี
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 09:56
- อัพเดตแล้ว วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2024 เวลา 04:14
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ปากีสถาน
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"เอาอีกแล้ว! เยเมน โจมตีโดรนใส่เรือสินค้าอิสราเอลไฟไหม้ #Yemen #Hutee #Isarael" เพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่งเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566
โพสต์ดังกล่าวได้แชร์คลิปวิดีโอความยาวเกือบหนึ่งนาที ที่แสดงภาพมุมสูงของเรือบรรทุกสินค้าลำหนึ่งที่ลุกไหม้อยู่กลางทะเล

วิดีโอดังกล่าวถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันในภาษาไทยทางเฟซบุ๊ก ติ๊กตอก ยูทูป และ บล็อกดิท
นอกจากนี้ ยังพบโพสต์ที่คล้ายๆ กันนี้ในภาษาอื่น เช่น ภาษาอังกฤษ อาหรับ สเปน และ เยอรมัน
กลุ่มกบฏฮูตีได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบต่อการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง โดยกล่าวว่าเป็นการแสดงจุดยืนเพื่อสนับสนุนประชาชนในฉนวนกาซา ที่ตกเป็นเหยื่อในสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส ซึ่งมีอิหร่านหนุนหลังอยู่
กลุ่มกบฏฮูตีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ "แกนนำต่อต้าน" ที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรของอิหร่าน ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลว่าความรุนแรงอาจยกระดับและบานปลายไปสู่ความขัดแย้งในระดับภูมิภาคต่อจากสงครามในฉนวนกาซาได้
โดยปกติแล้ว การค้าทางทะเลประมาณร้อยละ 12 ของโลกจะแล่นผ่านช่องแคบบับเอล-มันเดบ (ฺBab el-Mandeb Strait) ซึ่งเป็นทางเข้าของทะเลแดง ตั้งอยู่ระหว่างฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเยเมนและประเทศจิบูตี แต่การโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตีได้ส่งผลให้เรือขนส่งสินค้าจำนวนมากต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรืออ้อมไปทางทวีปแอฟริกาแทน ซึ่งเป็นระยะทางที่ยาวกว่าเส้นทางเดิมหลายพันไมล์
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ วิดีโอดังกล่าวแสดงเหตุการณ์ที่เรือบรรทุกสินค้าไฟไหม้และจมลงนอกชายฝั่งประเทศศรีลังกาในปี 2564 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม
เรือสินค้าไฟไหม้และจมทะเลในศรีลังกา
AFP ได้ใช้การค้นหาภาพแบบย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมจากวิดีโอ และพบวิดีโอเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ในช่องยูทูปของกองทัพอากาศศรีลังกา ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 (ลิงก์บันทึก)
"คลิปวิดีโอล่าสุดจากเรือเอ็กซ์เพรส เพิร์ล ซึ่งถูกไฟลุกท่วม" คำอธิบายประกอบวิดีโอระบุ
คลิปที่ปรากฏในโพสต์เท็จนั้นถูกสลับด้าน โดยภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดตรงกับภาพในคลิปต้นฉบับตั้งแต่วินาทีที่ 34 เป็นต้นไป
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และคลิปในยูทูปจากปี 2564 (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่เหมือนกัน:

AFP ได้เผยแพร่ภาพถ่ายจากภัยพิบัติดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 เรือชื่อเอ็กซ์เพรส เพิร์ลแจ้งว่าบนเรือเกิดการรั่วไหลของสารกรดไนตริกและทำให้เกิดไฟไหม้ขณะกำลังเดินเรือเข้าสู่ท่าเรือโคลัมโบจากรัฐคุชราต ประเทศอินเดีย
เรือที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ลำนี้บรรทุกกรดไนตริกและสารเคมีอื่นๆ จำนวนมากถึง 25 ตัน รวมไปถึงตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 28 ตู้ที่ยบรรจุพลาสติก ซึ่งตู้ส่วนใหญ่ได้ตกลงไปในทะเล
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศทางทะเล เนื่องจากไฟไหม้ติดต่อกันนานถึง 13 วัน ก่อนที่ปฏิบัติการระหว่างประเทศจะสามารถดับไฟดังกล่าวได้สำเร็จ
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับเหตุไฟไหม้เรือดังกล่าวที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา