ภาพเรือไฟไหม้เก่าถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นเหตุการณ์จาก "ทะเลแดงในปี 2567"

ภาพจากรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้เรือรบของกองทัพอิหร่านในอ่าวโอมานเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ถูกเผยแพร่อีกครั้งในสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า เป็นภาพเรือของกรีกถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธใกล้ชายฝั่งประเทศเยเมน คำกล่าวอ้างนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ที่มีชนวนมาจากเหตุการณ์ที่กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนโจมตีเรือที่แล่นผ่านทะเลแดงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 โดยการโจมตีครั้งนี้ได้ส่งผลให้สหรัฐอเมริกากับอังกฤษผนึกกำลังตอบโต้

ภาพถ่ายดังกล่าวถูกโพสต์ลงในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567

"เรือบรรทุกน้ำมันของกรีกถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธนอกชายฝั่งเยเมน" โพสต์ดังกล่าวเขียนคำบรรยายเป็นภาษาไทย และระบุเพิ่มเติมว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส โพสต์เดียวกันนี้ยังเขียนด้วยว่าเรือดังกล่าวเดินทางมาจากเวียดนาม

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ว่าเรือขนสินค้าสัญชาติกรีกชื่อ โซกราเฟีย (Zografia) ถูกโจมตีโดยกลุ่มกบฏฮูตีในทะเลแดง ขณะที่กำลังแล่นจากเวียดนามไปยังอิสราเอล

AFP ก็ได้รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เช่นกัน โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงกิจการนาวีของกรีซได้ให้สัมภาษณ์กับ AFP ว่า เรือโซกราเฟีย "ได้รับความเสียหายเล็กน้อย อยู่ในสภาพที่ยังใช้งานต่อได้ และกำลังเดินทางต่อไปยังจุดหมาย"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

กลุ่มกบฏฮูตีเป็นส่วนหนึ่งของ "อักษะแห่งการต่อต้าน" ที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรของอิหร่าน โดยในเดือนพฤศจิกายน 2566 กลุ่มกบฏดังกล่าวได้เริ่มโจมตีเรือสินค้าที่แล่นผ่านทะเลแดง

กลุ่มกบฏดังกล่าวประกาศว่าจะโจมตีเรือที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอล เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาที่ได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

การโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตีส่งผลให้บริษัทเดินเรือบางแห่งต้องอ้อมไปทางทวีปแอฟริกาแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าหลักและคิดเป็นสัดส่วนการค้าทางทะเลประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ของโลก

สหรัฐอเมริกากับอังกฤษได้ผนึกกำลังเพื่อตอบโต้กลุ่มกบฏฮูตี ส่งผลให้กลุ่มดังกล่าวประกาศว่าผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และอังกฤษเป็น "เป้าหมายที่มีความชอบธรรม"

ภาพเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันว่าเรือดังกล่าวแสดงภาพเรือโซกราเฟียในภาษาไทยที่นี่  นี่ และ นี่  ส่วนโพสต์ในภาษาอาหรับอ้างว่าภาพดังกล่าวบันทึกเหตุการณ์ไฟไหม้เรือสัญชาติอเมริกัน

โพสต์เหล่านี้เป็นตัวอย่างล่าสุดของข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการโจมตีดังกล่าว ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ โดย AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเหล่านี้ที่นี่ นี่ และ นี่

'เรือของกองทัพอิหร่าน'

จากการค้นหาภาพแบบย้อนหลังในกูเกิล AFP พบว่าภาพเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่ในรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 (ลิงก์บันทึก)

พาดหัวข่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า "เรือที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพเรืออิหร่านจมลงหลังถูกเพลิงไหม้ในอ่าวโอมาน สื่อรายงาน"

คำบรรยายใต้ภาพระบุว่า "ควันลอยขึ้นมาจากเรือที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพเรืออิหร่าน ณ ท่าเรือจาสก์ (Jask) ประเทศอิหร่าน วันที่ 2 มิถุนายน 2564" และให้เครดิตภาพว่ามาจากเวสต์เอเชีย นิวส์ เอเจนซี (West Asia News Agency)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพถ่ายบนเว็บไซต์ของรอยเตอร์ (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพถ่ายบนเว็บไซต์ของรอยเตอร์ (ขวา)

ภาพเดียวกันนี้ยังถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวต่างประเทศอีกหลายแห่ง เช่น ซีเอ็นเอ็น  เทเลกราฟ และ วอชิงตันโพสต์ ซึ่งรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์เรืออิหร่านไฟไหม้ในปี 2564 (ลิงก์บันทึกที่นี่ นี่ และ นี่)

หนึ่งในเรือรบที่ใหญ่ที่สุดของอิหร่านชื่อ คาร์ก (Kharg) จมลงเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 หลังถูกไฟไหม้ไม่ห่างจากท่าเรือใกล้อ่าวโอมาน กองทัพเรือรายงาน

AFP รายงานว่า ภาพที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ของอิหร่านนั้นเผยให้เห็นกลุ่มควันขนาดใหญ่พวยพุ่งขึ้นมาจากเรือที่กำลังลุกไหม้

เพลิงไหม้บนเรือดังกล่าวเกิดจาก "ระบบขัดของ" โดยกองทัพเรืออิหร่านไม่ได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติม นอกจากการระบุว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงพยายามอย่างเต็มที่โดยใช้เวลากว่า "20 ชั่วโมง" ก่อนที่เรือจะจมลง

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา