โพสต์เท็จอ้างว่าคำสั่งของรัสเซียประกาศว่าการขายอลาสก้าให้สหรัฐ "ผิดกฎหมาย"

  • เผยแพร่ วัน 8 มีนาคม 2024 เวลา 10:07
  • อัพเดตแล้ว วัน 8 มีนาคม 2024 เวลา 10:24
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: Tonye BAKARE, AFP ไนจีเรีย
  • แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
คำสั่งกฤษฎีกาที่ลงนามโดยประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ในเดือนมกราคม 2567 ส่งผลให้เกิดข้อมูลเท็จในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งรวมถึงคำกล่าวอ้างที่ระบุว่า การขายอลาสก้าให้กับสหรัฐฯ ในปี 2410 นั้น "เป็นโมฆะ" หรือ "ผิดกฎหมาย" อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ AFP พบว่ากฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดให้มีเพียงการจัดสรรเงินทุน สำหรับการค้นหาและให้ความคุ้มครองทางกฏหมายต่อทรัพย์สินของรัสเซียทั่วโลก โดยกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงการขายอลาสก้าหรือดินแดนอื่นแต่อย่างใด

"ปูตินลงนามคำสั่งให้การขายอลาสกาให้แก่สหรัฐเมื่อ 150 ปีก่อนเป็นโมฆะ และต้องการอลาสกาคืนจากสหรัฐ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่านี่คือการประกาศสงครามต่อสหรัฐแล้ว" ผู้ใช้งาน X บัญชีหนึ่งเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

ในวันเดียวกัน ยังพบโพสต์อื่นๆ ที่อ้างว่า ปูตินพูดว่าการขายอลาสก้าให้กับสหรัฐฯ เป็นการกระทำที่ "ผิดกฏหมาย" 

"'ปูติน' ประกาศว่าการขายอลาสกาโดยจักรวรรดิรัสเซียยุค Alexander II ให้สหรัฐฯเมื่อปี 1867 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย!" ผู้ใช้งาน X อีกบัญชีเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ก่อนจะลบโพสต์ดังกล่าวในเวลาต่อมา

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังถูกเผยแพร่เป็นภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และในภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษที่นี่ และ นี่ และภาษาสเปนที่นี่

ในวันที่ 18 ตุลาคม 2410 รัสเซียได้ตกลงเซ็นสัญญาขายอลาสก้าให้กับสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการด้วยราคา 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ลิงก์บันทึก) แต่อลาสก้าไม่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกาจนกระทั่งถูกสถาปนาให้เป็นรัฐอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2502

ในปี 2022 วยาเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย ได้เตือนสหรัฐฯ ไม่ให้อายัดทรัพย์สินของรัสเซีย และยังขู่ว่ารัสเซียสามารถ "ทวงคืน" อลาสก้าจากสหรัฐฯ ได้ (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม ข้อความที่อ้างว่าปูตินประกาศให้การขายอลาสก้าให้สหรัฐ "เป็นโมฆะ" หรือ "ผิดกฎหมาย" นั้นไม่เป็นความจริง

คำสั่งว่าด้วยทรัพย์สินของรัสเซีย

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ปูตินได้ลงนามในกฤษฎีกาฉบับใหม่ซึ่งจัดสรรงบประมาณให้กับคณะกรรมการบริหารทรัพย์สิน สำหรับใช้ใน "กระบวนการค้นหาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของสหพันธรัฐรัสเซีย อดีตจักรวรรดิรัสเซีย และอดีตสหภาพโซเวียต”

สำนักข่าวทาสส์ (TASS) ของรัสเซียรายงานว่า กฤษฎีกาฉบับดังกล่าวยังครอบคลุมถึงงบประมาณสำหรับ "การจดทะเบียนสิทธิ (ทรัพย์สิน) ตามกฎหมาย" และ "การคุ้มครองทางกฎหมายต่อทรัพย์สินนี้" ด้วย (ลิงก์บันทึก)

ดินแดนของอดีตจักรวรรดิรัสเซียได้แก่โปแลนด์ ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย จนกระทั่งจักรวรรดิล่มสลายลงในเดือนมีนาคม 2460 (ลิงก์บันทึก)

ต่อมาในปี 2465 สหภาพโซเวียต (USSR) ถูกก่อตั้งขึ้น โดยมีกรุงมอสโกเป็นเมืองหลวง

ในช่วงที่รุ่งเรื่องที่สุด สหภาพโซเวียตถือเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก และประกอบไปด้วยสาธารณรัฐย่อย 15 แห่ง รวมถึงดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศยูเครน เอสโตเนีย ลิทัวเนีย และจอร์เจีย (ลิงก์บันทึก) สหภาพโซเวียตพังทลายลงในปี 2534

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กองทัพรัสเซียปฏิบัติการทางทหารบุกยูเครนจากคำสั่งของปูติน โดยอ้างว่าอดีตพลเมืองของสหภาพโซเวียตที่อาศัยอยู่ในยูเครน "ไม่ได้ถูกถามว่าพวกเขาต้องการใช้ชีวิตอย่างไรเมื่อสหภาพโซเวียตถูกสร้างขึ้นหรือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง" (ลิงก์บันทึก)

Image

กฤษฎีกาในเดือนมกราคม 2567 ไม่ได้ระบุถึงอลาสก้าแต่อย่างใด แต่บรรดาบล็อกเกอร์สายทหารรัสเซียได้ตีความเนื้อหาในกฤษฎีกาว่าเป็นการเคลื่อนไหวของปูตินที่หวังจะยึดอลาสก้าคืน (ลิงก์บันทึก)

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มองว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่องตลก

"ผมคิดว่าผมสามารถพูดแทนพวกเราทุกคนในรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ และผมขอบอกว่า เขาจะไม่ได้อลาสก้าคืนอย่างแน่นอน" เวดันท์ ปาเทล โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม สถาบันเพื่อการศึกษาเรื่องสงคราม ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐวอชิงตัน ได้ตั้งข้อสังเกตว่ากฤษฎีกาฉบับดังกล่าวอาจเป็นข้ออ้างสำหรับรัสเซียในการก่อความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน (ลิงก์บันทึก)

นอกจากนี้ สถาบันคลังสมอง (Think Tank) ดังกล่าวยังระบุไว้ในรายงานประเมินการรุกรานยูเครนของรัสเซียเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ว่า "รัสเซียอาจใช้ 'การคุ้มครอง' ต่อทรัพย์สินในการอ้างสิทธิของรัสเซียในประเทศนอกพรมแดนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อส่งต่อกลไกอำนาจอ่อน (Soft Power) ให้กับประเทศที่มีพรมแดนติดกันและเคยอยู่ในสหภาพโซเวียต ที่มีเป้าหมายในการทำลายเสถียรภาพภายใน"

เมื่อปูตินถูกถามในปี 2557 ว่าเขามีแผนจะผนวกรัฐอลาสก้าเข้ากับรัสเซียหรือไม่ ปูตินตอบแบบติดตลกว่าอลาสก้า "หนาวเกินไป" (ลิงก์บันทึก)

ทองคำอลาสก้า

หลังอลาสก้าถูกขายให้กับสหรัฐฯ รัฐดังกล่าวก็แทบไม่ได้รับความสนใจจากสหรัฐฯ 

จนกระทั่งปี 2439 มีการค้นพบแหล่งทองคำในเมืองยูคอน ประเทศแคนาดา ซึ่งขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างที่ระบุว่า ปูตินผลักดันให้ทวงคืนอลาสก้าเพราะมีการค้นพบแหล่งทองคำในอลาสก้า

สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา (USGS) ระบุว่า อลาสก้าเป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ อลาสก้ายังระบุให้แร่เงิน (Silver) เป็นแร่ธาตุสำคัญที่ผลิตในรัฐด้วย (ลิงก์บันทึก)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา