รูปภาพและวิดีโอนกตายในทะเลสาบน้ำแข็งถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นเหตุการณ์ในประเทศจีน

วิดีโอนกตายในทะเลสาบน้ำแข็งที่ถ่ายโดยช่างภาพในรัฐเซาท์ดาโกตา สหรัฐอเมริกา ถูกนำไปแชร์ในโพสต์เท็จว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองซินเจียง ประเทศจีน เนื่องจากอากาศหนาวเย็นเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่ายืนยันกับ AFP ว่า นกที่ปรากฏในวิดีโอนั้นไม่ใช่สายพันธุ์ที่พบได้ในประเทศจีน ขณะเดียวกัน AFP ไม่พบรายงานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับภาวะอากาศหนาวเย็นอย่างฉับพลันที่ทำให้ฝูงนกหนาวตายในพื้นที่ดังกล่าวของประเทศจีน

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 พร้อมคำบรรยายที่เขียนว่า "จีน : ซินเจียง มีรายงาน 1-2วันก่อนก่อนหน้า อากาศหนาวเย็นสุดขั้ว -52.3 องศาในเมืองอัล ไต ซินเจียง นกอพยพหลายพันตัวแข็งตัวตาu ในทะเลสาบเพราะติดน้ำแข็ง"

"อุณหภูมิเยือกแข็งลงคล้ายแอนตาร์กติกา วีดีโอได้แชร์ในโซเซียลจีน" คำบรรยายเดียวกันนี้ระบุต่อ

ภาพในโพสต์ดังกล่าวของเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า World Forum ข่าวสารต่างประเทศ เผยให้เห็นนกจำนวนมากตายอยู่ในทะเลสาบที่กลายเป็นน้ำแข็ง โดยได้รับการกดถูกใจกว่า 1,100 ครั้งและ 60 แชร์

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

ภาพถ่ายชุดเดียวกันถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างในภาษาไทยทางทวิตเตอร์ที่นี่ และเฟซบุ๊กที่นี่ และถูกแชร์ในภาษาอังกฤษ พม่า และ ฮินดู

โพสต์เหล่านี้ถูกแชร์หลังสำนักข่าวซินหัวของรัฐบาลจีน รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 อุณหภูมิในเมืองซินเจียงวัดได้ที่ -52 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าเป็นอุณหภูมิที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม วิดีโอต้นฉบับนั้นถูกแชร์โดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์รายหนึ่งที่ระบุว่า เขาถ่ายวิดีโอดังกล่าวในรัฐเซาท์ดาโกตา ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญให้สัมภาษณ์กับ AFP ว่า สายพันธุ์ของนกในภาพนั้นไม่ใช่สายพันธุ์ที่พบได้ในประเทศจีน

คำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ยังได้รับการตรวจสอบโดย Full Fact ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงในสหราชอาณาจักร สามารถอ่านรายงานของ Full Fact ได้ที่นี่ (ลิงก์บันทึก)

'น้ำแข็งในเซาท์ดาโกตา'

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล โดยใช้คีย์เฟรมจากวิดีโอ พบคลิปเดียวกันถูกเผยแพร่ในบัญชีอินสตาแกรมของช่างภาพชื่อฌอน วีฟเวอร์ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายบางส่วนในโพสต์ แปลเป็นภาษาไทยว่า "แก้ไขเพิ่มเติม: นกเหล่านี้ตายตั้งแต่สองเดือนที่แล้ว วิดีโอนี้ถูกบันทึกไว้ได้เมื่อสองวันก่อนและเป็นการตายของนกที่แย่ที่สุดที่ผมเคยเจอ นกเหล่านี้ยังโตไม่เต็มวัยและถูกแช่แข็งอยู่ในน้ำแข็งในเซาท์ดาโกตา ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพวกมันตายมาระยะหนึ่งแล้ว"

วีฟเวอร์ยังระบุต่อว่า เพื่อนของเขาส่งคลิปวิดีโอนี้มาให้เขา พร้อมตั้งคำถามว่าที่นกฝูงนี้ตายเกิดจากโรคไข้หวัดนกหรือสภาพอากาศที่หนาวเย็นอย่างเฉียบพลัน หรือทั้งสองปัจจัยรวมกัน

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และคลิปวิดีโอในอินสตาแกรม (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และคลิปวิดีโอในอินสตาแกรม (ขวา)

วีฟเวอร์กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ว่า วิดีโอดังกล่าว "ถูกถ่ายไว้ได้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ที่กูสเลค ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของวอเตอร์ทาวน์ รัฐเซาท์ดาโกตา"

"นกเหล่านี้เป็นห่านหิมะที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ และไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศจีนเลย" เขากล่าว

วีฟเวอร์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารเอาท์ดอร์ ไลฟ์ ว่า เนท ฟินนีย์ ซึ่งเป็นเพื่อนของเขา ได้ส่งคลิปดังกล่าวให้กับเขา โดยเป็นคลิปจากเมืองวอเตอร์ทาวน์ รัฐเซาท์ดาโคตา (ลิงก์บันทึก)

'ไม่พบในจีน'

คริส เอลฟิค ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาและชีววิทยาวิวัฒนาการ มหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัต กล่าวกับ AFP ผ่านทางอีเมลว่า นกในวิดีโอส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายห่านหิมะ ซึ่ง "ไม่ตรงกับห่านป่าสายพันธุ์ใดๆ ที่พบได้ในจีน" (ลิงก์บันทึก)

เอลฟิคกล่าวต่อว่า จำเป็นต้องมีการทดสอบโรคหรือการชันสูตรซากศพของนกจึงจะสามารถยืนยันสาเหตุการตายของนกได้

"อย่างที่โพสต์ในอินสตาแกรมระบุไว้ว่า นกหลายตัวในวิดีโอเป็นนกที่ยังไม่โตเต็มวัย ซึ่งเป็นนกที่อ่อนแอที่สุดในหมู่ประชากรนก" เอลฟิคกล่าว

หมิง หม่า รองประธานสมาคมสัตววิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับนกในประเทศจีน และศาสตราจารย์ของสถาบันการศึกษาแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ กล่าวกับ AFP ว่า คำกล่าวอ้างที่ปรากฏในโพสต์เหล่านี้เป็นเรื่อง "น่าขัน" (ลิงก์บันทึก)

หม่าระบุไว้ในอีเมลเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 ว่า อุณหภูมิที่ต่ำลงในประเทศจีนไม่ได้คร่าชีวิตนกจำนวนมาก

เฟง ซู รองศาสตราจารย์จากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ยืนยันกับ AFP ว่า "ไม่มีนกสายพันธุ์ดังกล่าวในเมืองซินเจียง" (ลิงก์บันทึก)

"เท่าที่ผมทราบ ไม่มีนกจำนวนมากตายในเมืองซินเจียงในช่วงฤดูหนาวนี้เพราะอุณหภูมิที่ลดลงกะทันหันหรือเพราะโรคไข้หวัดนกเลย" เขากล่าว

การค้นหาด้วยคำสำคัญไม่พบรายงานอย่างเป็นทางการที่พูดถึงการตายของนกจำนวนมากในเมืองซินเจียงในช่วงฤดูหนาวปี 2567

ต่อมา "แพลตฟอร์มหักล้างข่าวลือ" ของเมืองซินเจียง ซึ่งเป็นหน่วยงานของคณะกรรมการกิจการไซเบอร์สเปซกลางและสำนักข่าวซินหัว ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับวิดีโอเหล่านี้และเผยแพร่รายงานตรวจสอบ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา