ภาพนายกฯ เนทันยาฮูของอิสราเอลรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะ 'ติดเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์' เป็นภาพตัดต่อ

ภาพเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลกพร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพของเขากำลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากติดเชื้อ "ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์" อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวถูกดัดแปลงจากภาพต้นฉบับที่ภรรยาของเนทันยาฮูเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุโจมตีในกรุงเยรูซาเลมตั้งแต่ปี 2558 โดย AFP ได้ตรวจสอบและพบว่า ณ วันที่ 8 มีนาคม 2567 ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการว่าเนทันยาฮูติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

"เนทันยาฮูติดเชื้อโคโรนากลายพันธุ์ไวรัส" ข้อความที่ฝังอยู่ในวิดีโอติ๊กตอกระบุ โดยภาพที่ปรากฏเผยให้เห็นนายกฯ เนทันยาฮูสวมหน้ากากอนามัยและนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

โพสต์ดังกล่าวปรากฏเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 และมีผู้เข้าชมกว่า 6,000 ราย

ข้อความในวิดีโอเดียวกันนี้ยังเขียนต่อว่า "ฉันภาวนาให้เราได้ยินข่าวดี รอฟังข่าวกันต่อไป"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ติ๊กตอกที่แชร์ภาพตัดต่อและคำกล่าวอ้างเท็จ

ภาพเดียวกันถูกแชร์พร้อมกับคำกล่าวเท็จในภาษาไทยที่นี่ และ ที่นี่ และในภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษที่นี่ และ นี่ และ ภาษาอินโดนีเซียที่นี่ 

ความคิดเห็นจากผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์บางบัญชีชี้ให้เห็นว่า พวกเขาเชื่อว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพจากเหตุการณ์จริง

"ขอให้โควิดโชคดี" ผู้ใช้งาน X รายหนึ่งเขียนแสดงความคิดเห็น

"หวังว่ากรรมจะตามเขาทัน ขอให้ตายอย่างทรมานช้าๆ" ผู้ใช้งาน X อีกรายระบุ

โพสต์ดังกล่าวปรากฏในโลกออนไลน์หลังสื่อท้องถิ่นรายงานว่าเนทันยาฮูยกเลิกการประชุมทั้งหมดหลังเขาล้มป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวถูกดัดแปลง ด้วยการตัดต่อหน้าของผู้นำอิสราเอลและสลับกับคนคนไข้ในภาพต้นฉบับ

ณ วันที่ 8 มีนาคม 2567 ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการว่าเนทันยาฮูเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพราะติดเชื้อไวรัสโคโรนาแต่อย่างใด

สโนปส์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของสหรัฐอเมริกา ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างดังกล่าวและเผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 (ลิงก์บันทึก)

ภาพตัดต่อ

การค้นหาภาพแบบย้อนหลังในกูเกิล พบภาพต้นฉบับถูกเผยแพร่อยู่บนบัญชีเฟซบุ๊กทางการของเนทันยาฮู ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 (ลิงก์บันทึก)

ภาพดังกล่าวแสดงซาร่า เนทันยาฮู ภรรยาของเขา ขณะกำลังเยี่ยมผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง หลังเหตุโจมตีกรุงเยรูซาเลม เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2558

คำบรรยายภาษาฮีบรูในโพสต์ดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "วันนี้ซาร่า ภรรยาของผม ได้เดินทางไปเยี่ยมอเดล เบนเน็ตต์ และ นาธาน ลูกชายของเธอ ที่โรงพยาบาลฮาดัซซาร์ อิน เคเร็ม หลังสองแม่ลูกได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในกรุงเยรูซาเล็มเมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กของเบนจามิน เนทันยาฮูเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558

AFP พบว่าภาพต้นฉบับถูกสลับด้าน ก่อนจะตัดต่อใบหน้าของเนทันยาฮูเข้าไปแทนที่ใบหน้าของเบนเน็ตต์

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์ภาพตัดต่อและคำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับที่ปรากฏในเพจเฟซบุ๊กของเนทันยาฮูในปี 2558 (ขวา):

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์ภาพตัดต่อและคำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับที่ปรากฏในเพจเฟซบุ๊กของเนทันยาฮูในปี 2558 (ขวา)

ภาพเนทันยาฮูไปเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีคนเดียวกันยังถูกเผยแพร่ในรายงานของสำนักข่าวไทม์ออฟอิสราเอลเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2558 ด้วย (ลิงก์บันทึก)

AFP ได้รายงานเกี่ยวกับการโจมตีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2558 ที่ชาวปาเลสไตน์คนหนึ่งสังหารชาวอิสราเอลสองคนในย่านเมืองเก่าของกรุงเยรูซาเลม และนำมาซึ่งการปราบปรามจากฝั่งอิสราเอลในเวลาต่อมา (ลิงก์บันทึก)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับเนทันยาฮูที่นี่  นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา