ภาพคนใส่เสื้อสีม่วงชุมนุมกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเบาะแสว่าถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์
- เผยแพร่ วัน 20 กุมภาพันธ์ 2024 เวลา 11:01
- อัพเดตแล้ว วัน 20 กุมภาพันธ์ 2024 เวลา 14:58
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในบ่ายวันนี้ !" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งเขียนคำบรรยายเป็นภาษาไทยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ในวันเดียวกันกับเหตุการณ์ที่มีคนใส่เสื้อสีม่วงรวมตัวกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อแสดงการสนับสนุนและปกป่องสถาบันกษัตริย์ของไทย
มาตรา 112 เป็นกฎหมายอาญาที่บัญญัติว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" และถือเป็นหนึ่งในกฎหมายคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ที่เข้มงวดที่สุดในโลก
แต่ในปี 2563 ประเด็นอ่อนไหวดังกล่าวถูกตั้งคำถามโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีเยาวชนเป็นแกนนำ
ในรายงานเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ระบุว่า นักเคลื่อนไหวสองคนถูกจับกุมตามหมายจับ หลังพวกเขาบีบแตรใส่ขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567
โพสต์เท็จดังกล่าวแชร์ภาพที่เผยให้เห็นการรวมตัวของคนจำนวนมหาศาล ซึ่งส่วนใหญ่สวมเสื้อสีม่วง และทำกิจกรรมแปรอักษรเป็นรูปหัวใจ
ในภาพเดียวกันนี้ยังเห็นอาคารที่มีลักษณะคล้ายวัดไทยอยู่ในด้านหลังด้วย
โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์มากกว่า 3,800 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังพบภาพเดียวกันนี้ถูกแชร์พร้อมกับคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันว่าภาพดังกล่าวมาจากเหตุการณ์จริง เช่น โพสต์ในเฟซบุ๊กที่นี่ และ นี่ และในติ๊กตอกที่นี่ และ นี่
ผู้ใช้บางคนได้เข้ามาแสดงความเห็นที่สะท้อนว่าพวกเขาเชื่อว่าภาพดังกล่าวแสดงเหตุการณ์จริง
"เรียกสิ่งนี้ว่า 'พลัง' ประเทศไทยของฉันต้องเป็นเช่นนี้" ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งเขียนความคิดเห็น
"IIIกีบ ช็อคกันมั่งละ ถ้าทำแบบนี้อีก เดินถนนไม่ได้แน่" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กระบุ
จุดสังเกตของภาพที่สร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)
อย่างไรก็ตาม เมื่อ AFP ได้พิจารณาภาพดังกล่าวอย่างละเอียดแล้ว พบเบาะแสที่ชี้ว่าภาพดังกล่าวอาจถูกสร้างขึ้นโดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
ตัวอย่างของเบาะแส คือ ธงชาติไทย ซึ่งประกอบไปด้วยแถบแนวนอนจำนวนสามสี นั่นคือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน
อย่างไรก็ตาม ภาพที่คาดว่าสร้างจาก AI เผยให้เห็นผู้คนโบกธงชาติที่มีแถบสีแดงกับสีขาวเพิ่มขึ้นมาจากธงชาติในความเป็นจริง โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบสำคัญ
นอกจากนี้ ภาพถ่ายจากเหตุการณ์จริงที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวเดอะ สแตนดาร์ดเผยให้เห็นว่า ผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ซึ่งตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ลิงก์บันทึก)
สถานที่ชุมนุมตรงกับภาพพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาลในแผนที่กูเกิลที่นี่
AFP ได้ทำการค้นหาอาคารที่มีลักษณะคล้ายอาคารที่ปรากฏในโพสต์เท็จ ซึ่งรวมถึงอาคารที่คล้ายวัดที่หลังคามุงกระเบื้องสีส้มด้วย แต่ไม่พบอาคารที่มีลักษณะตรงกันแต่อย่างใด
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพที่สร้างโดย AI (ซ้าย) และภาพกูเกิลสตรีทวิวของลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่ไม่สอดคล้องกัน
แม้ว่าประสิทธิภาพของเทคโนโลยี AI จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่ก็ยังสามารถสังเกตเห็นข้อผิดพลาดในภาพที่สร้างโดย AI ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญให้สัมภาษณ์กับ AFP ว่า วิธีที่ดีที่สุดในการตรวจสอบว่าภาพใดสร้างโดย AI คือการสังเกตข้อบกพร่องเหล่านี้ในภาพ
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวข้องกับภาพที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ที่นี่ และ นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา