ภาพทหารอเมริกันในอิรักจากปี 2559 ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จในช่วงความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัฐเท็กซัสกับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

ภาพถ่ายของทหารอเมริกันถือธงรัฐเท็กซัสถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ว่าทหารในรัฐเท็กซัสปลดธงชาติสหรัฐฯ ออกเพื่อท้าทายอำนาจของรัฐบาลกลาง อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ภาพถ่ายดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบันในสหรัฐฯ แต่อย่างใด ภาพต้นฉบับเป็นภาพจากประเทศอิรักในปี 2559 หลังและเป็นภาพทหารสหรัฐฯ รับสิ่งของเครื่องใช้จากองค์กรการกุศลในรัฐเท็กซัส

"เท็กซัสเดือดระอุ! บล็อกจนท.รัฐบาลสหรัฐวุ่นขณะทหารกองกำลังพิทักษ์ชาติชักธงต้านรบ.ไบเดน" เพจเฟซบุ๊กชื่อ สถาบันทิศทางไทย เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 

"ทหารเท็กซัส กองกำลังพิทักษ์ชาติ ได้ปลดธงชาติสหรัฐอเมริกาออก และชักเฉพาะธงชาติสาธารณรัฐเท็กซัส" คำบรรยายเดิมระบุต่อ

ภาพถ่ายในโพสต์เดียวกันนี้เผยให้เห็นทหารกลุ่มหนึ่งยืนถือธงประจำรัฐเท็กซัส

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

ภาพเดียวกันนี้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จโดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศจีน  แคนาดา  โมร็อกโก และ เปรู นอกจากนี้ ยังพบคำกล่าวอ้างเดียวกันปรากฏในโพสต์ภาษาไทยที่นี่  นี่ และ นี่

โพสต์เหล่านี้ถูกแชร์อย่างกว้างขวางในช่วงที่เกิดสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างทำเนียบขาวกับเกร็ก แอ็บบอตต์ ผู้ว่าการรัฐเท็กซัสที่สังกัดพรรครีพับลิกัน ซึ่งกำลังไม่ลงรอยกับรัฐบาลกลางเรื่องพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก

การลักลอบข้ามชายแดนอย่างผิดกฎหมายที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปัญหาผู้อพยพกลายเป็นประเด็นสำคัญในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยพรรครีพับลิกันพยายามหาทางโจมตีประธานาธิบดีโจ ไบเดนจากพรรคเดโมแครต ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้อพยพข้ามพรมแดนสหรัฐ-เม็กซิโกสูงเป็นประวัติการณ์

แอ็บบอตต์ได้เปิดทางให้เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาดินแดนจากรัฐเท็กซัสและรัฐอื่นๆ ที่นำโดยพรรครีพับลิกันมารวมตัวกันในเมืองอีเกิลพาส และติดตั้งลวดหนามและแนวกั้นอื่นๆ เพื่อสกัดผู้อพยพ นอกจากนี้ แอ็บบ็อตต์ยังประกาศว่าเขาวางแผนจะสร้างฐานทัพทหารในเมืองอีเกิลพาสอีกด้วย

การควบคุมชายแดนเป็นหน้าที่รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง แต่แอ็บบอตต์ ซึ่งสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีและอดีตผู้นำพรรครีพับลิกัน ได้กล่าวหารัฐบาลของไบเดนว่าปล่อยให้ผู้อพยพ "บุกรุก" ชายแดนทางใต้ของประเทศอย่างผิดกฎหมาย

สถานการณ์ขัดแย้งดังกล่าวส่งผลให้คนบางกลุ่มออกมาเรียกร้องให้เท็กซัสแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่า เท็กซิส (Texit)

อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายที่ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทเรื่องพรมแดนดังกล่าวแต่อย่างใด

ภาพทหารอเมริกันในอิรัก

การค้นหาภาพแบบย้อนหลังในยานเดกซ์ (Yandex) AFP พบภาพเดียวกันนี้ปรากฏในบล็อกขององค์กรการกุศลชื่อ Airborne Angel Cadets of Texas เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559

คำบรรยายภาพระบุว่า "ทหารอเมริกันในอิรักโพสท่าถ่ายรูปกับธงประจำรัฐเท็กซัสอย่างภาคภูมิใจ!"

โพสต์ในบล็อกระบุต่อว่า "เมื่อเร็วๆ นี้ Airborne Angel Cadets of Texas ได้ส่งสิ่งของเครื่องใช้ไปให้เพื่อนทหารที่ยอดเยี่ยมของเราในอิรัก"

"เธอได้แจกจ่ายสิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้ให้กับทหารจำนวนมากที่ประจำอยู่ในพื้นที่ของเธอ และเธอได้รวบรวมทหารจากเท็กซัสจำนวนหนึ่งมาถ่ายรูปร่วมกันดังที่เห็นในภาพถ่ายด้านล่างนี้ เพราะเราได้ส่งธงเท็กซัสไปกับสิ่งของเครื่องใช้ด้วย"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์ในบล็อกของ Airborne Angel Cadets of Texas (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์ในบล็อกของ Airborne Angel Cadets of Texas (ขวา):

แนนซี คาร์เตอร์ ผู้ก่อตั้งและประธานของ Airborne Angel Cadets of Texas กล่าวกับ AFP ว่า หน่วยทหารในอิรักหน่วยหนึ่งได้ส่งภาพถ่ายนี้ให้กับเธอ (ลิงก์บันทึก)

"ทหารจากรัฐเท็กซัส (ในภาพ) ถือธงผืนนี้และถ่ายรูปร่วมกันเพื่อแสดงความภาคภูมิใจในรัฐของเรา" เธอเขียนในอีเมลเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัฐเท็กซัสกับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา