ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แชร์ภาพประติมากรรมหิมะที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) หลังทีมจากประเทศไทยคว้ารางวัลรองแชมป์ที่ญี่ปุ่น

ภาพประติมากรรมหิมะที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกแชร์นับหลายพันครั้งในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย หลังทีมนักแกะสลักหิมะจากประเทศไทยคว้ารางวัลอันดับ 2 ในการประกวดที่จัดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น บางโพสต์ยังแชร์คำกล่าวอ้างเท็จว่าทีมจากประเทศไทยคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทีมจากประเทศมองโกเลียเป็นผู้ชนะอันดับ 1 จากการแข่งขัน และภาพเหล่านี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในกลุ่มเฟซบุ๊กที่สร้างขึ้นมาเพื่อแชร์ภาพที่สร้างโดย AI

"ขอแสดงความยินดีกับทีมแกะสลักหิมะไทยแลนด์ในการประกวดแข่งขันแกะสลักหิมะคว้าอันดับ1 ที่ Supporo snow Festival 2024, Japan" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567

โพสต์ดังกล่าวยังแชร์ภาพที่แสดงประติมากรรมน้ำแข็งรูปร่างคล้ายมังกร โดยมีคนกำลังแกะสลักอยู่ด้านล่าง โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์เกือบ 3,000 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ บันทึกไว้ได้เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567

ภาพดังกล่าวและภาพอื่นๆ ที่คล้ายกันยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จในเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ และ นี่ และในติ๊กตอกที่นี่ และ นี่

"ประเทศไทยนี่เก่งนะ ไม่เคยมีหิมะแต่ชนะเลิศ" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งเขียนแสดงความคิดเห็น

"งดงามมากค่ะขออนุญาตแชร์ภาพต่อนะค่ะให้คนไทยได้เห็นงานฝีมืออันงดงามของคนไทย" ผู้ใช้งานอีกรายระบุ

อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดย AI และเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของงานดังกล่าวระบุว่า ทีมแกะสลักจากประเทศไทยคว้ารางวัลอันดับ 2 จากการประกวดแกะสลักหิมะนานาชาติ เทศกาลหิมะซัปโปโร (Sapporo Snow Festival) ซึ่งจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 (ลิงก์บันทึก)

ขณะเดียวกัน รางวัลชนะเลิศตกเป็นของทีมจากประเทศมองโกเลีย

ภาพประติมากรรมหิมะจริง

ผลงานที่ทีมจากประเทศไทยแกะสลักขึ้นมีชื่อว่า "บั้งไฟพญานาค" โดยภาพต้นฉบับของประติมากรรมดังกล่าวถูกเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของเทศกาลหิมะซัปโปโร (ลิงก์บันทึก)

ภาพถ่ายอื่นๆ ของประติมากรรมถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวบางกอกโพสต์ ซึ่งให้เครดิตภาพว่ามาจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพประติมากรรมหิมะของทีมจากประเทศไทย เผยแพร่โดยสำนักข่าวบางกอกโพสต์

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพประติมากรรมจริงที่ทีมจากประเทศไทยแกะสลักขึ้น (ขวา)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพประติมากรรมจริงที่ทีมจากประเทศไทยแกะสลักขึ้น (ขวา)

ภาพถ่ายอื่นๆ ของประติมากรรมยังถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักข่าวเดอะเนชั่น (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

ทั้งข่าวประชาสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและรายงานข่าวระบุว่า ทีมจากประเทศไทยคว้ารางวัลรองชนะเลิศจากการแข่งขันดังกล่าว

ภาพที่สร้างโดย AI

การค้นหาด้วยคำสำคัญในเฟซบุ๊ก พบโพสต์ที่ปรากฏในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ "BING AI Artistry Collective" ซึ่งปรากฏเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 และได้เผยแพร่ภาพประติมากรรมหิมะที่มีลักษณะคล้ายมังกรจำนวน 21 รูป (ลิงก์บันทึก)

"ยินดีกับทีมแกะสลักหิมะไทยแลนด์ในการประกวดแข่งขันแกะสลักหิมะคว้าอันดับ 2 ที่ Supporo snow Festival 2024, Japan" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชื่อ Mahachai Chai เขียนคำบรรยาย โดยคำบรรยายยังระบุแฮชแท็ก  "AI art" and "เหตุการณ์สมมติ" ด้วย

ภาพทั้งหมดมีลายน้ำที่เขียนว่า "AI, Chai Mahachai"

ภาพที่แชร์โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าวตรงกับภาพที่แชร์ในโพสต์เท็จ (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เท็จ (ซ้าย) กับโพสต์เฟซบุ๊กของ Mahachai Chai (ขวา)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เท็จ (ซ้าย) กับโพสต์เฟซบุ๊กของ Mahachai Chai (ขวา)

ในช่องแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์เดียวกันนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Mahachai Chai ได้เขียนยืนยันว่า ภาพดังกล่าวถูกสร้างโดย AI และระบุว่าเขาสร้างภาพเหล่านี้ขึ้นเพื่อ "แสดงความยินดี" กับทีมตัวแทนจากประเทศไทย

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่แชร์ภาพที่สร้างจาก AI ที่นี่ นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา