โพสต์เท็จแชร์วิดีโออุบัติเหตุในอินเดียและอ้างว่า คนถูกไฟฟ้าช็อตเพราะใช้อุปกรณ์บลูทูธใกล้รางรถไฟ

คลิปวิดีโอชายคนหนึ่งล้มลงบนรางรถไฟหลังสายไฟหล่นใส่ถูกแชร์อย่างแพร่หลายพร้อมคำกล่าวอ้างว่า อุบัติเหตุนี้เกิดขึ้นเพราะเขาใส่ "หูฟังบลูทูธใกล้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟแรงสูง" อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ในความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์บลูทูธแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยายังยืนยันกับ AFP ว่าเป็นไปไม่ได้ที่บุคคลจะถูกไฟฟ้าช็อตจากการใส่หูฟังบลูทูธในบริเวณที่มีไฟฟ้าแรงสูง

"*หลีกเลี่ยงการใช้หูฟัง BLOOT ใกล้รางปลั๊กไฟ ข้อมูลนี้มีความสำคัญมาก" เพจเฟซบุ๊กชื่อ ส่องข่าว เขียนคำบรรยายประกอบวิดีโอเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567

คำบรรยายระบุต่อว่า “เมื่อเปิดชุดหูฟัง Bluetooth บนโทรศัพท์มือถือของคุณ จะมีกระแส [ไฟฟ้า] ส่ง/เหนี่ยวนำ จากสายไฟฟ้าแรงสูงบนรางรถไฟเข้าถึงโดยตรงผ่าน หูและเข้าสู่สมอง"

"*หลีกเลี่ยงการใช้บลูทูธบนชานชาลาฝั่งรถไฟเมื่อขับรถและยืนใกล้ช่องทางรถไฟฟ้า*"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

วิดีโอดังกล่าวแสดงเหตุการณ์ขณะชายสองคนกำลังยืนคุยกันบริเวณชานชาลาที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่ง และสายไฟตกลงมาใส่ชายอย่างกะทันหัน ส่งผลให้เขาล้มลงไปอยู่บนรางรถไฟ ส่วนชายอีกคนนั้นวิ่งหนีไปจากที่เกิดเหตุ

วิดีโอเดียวกันถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันในภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และในภาษาอื่น เช่น ภาษาอังกฤษที่นี่ และ นี่

แม้ว่าวิดีโอดังกล่าวจะแสดงให้เห็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจริง แต่เหตุดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์บลูทูธ 

อุบัติเหตุในอินเดีย

การค้นหาภาพย้อนหลังด้วยคีย์เฟรมโดยใช้เครื่องมือตรวจสอบ InVID-WeVerify พบรายงานข่าวอุบัติเหตุดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่สถานีรถไฟขรรคปุระ รัฐเบงกอลตะวันตกในประเทศอินเดีย

รายงานดังกล่าว ซึ่งสามารถอ่านได้ที่นี่  นี่ และ นี่ ระบุว่า ชายที่ประสบอุบัติเหตุชื่อ สุจัน ซิงห์ ซาห์ดาร์ ส่วนชายอีกคนคือเพื่อนร่วมงานของเขาและเป็นพนักงานตรวจตั๋วรถไฟ

ซาห์ดาร์ถูกไฟฟ้าช็อตหลังสายไฟหล่นใส่เขา ส่งผลให้เขามีแผลไฟไหม้สาหัส โดยเหตุการณ์ดังกล่าวถูกบันทึกไว้โดยกล้องวงจรปิด 

จากรายงานของสื่อท้องถิ่นสถานีรถไฟขรรคปุระแถลงว่าอุบัติเหตุดังกล่าว "อาจเกิดจากนก เพราะพวกมันชอบไปเกาะอยู่ตามสายไฟเล็กๆ"

ร็อดนีย์ ครอฟต์ ประธานคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านการป้องกันรังสีที่ไม่ก่อให้เกิดไอออน (ICNIRP) ในเยอรมนี ปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่อ้างว่าบลูทูธสามารถก่อให้เกิดไฟฟ้าช็อตได้ว่า "ไม่เป็นความจริง"

ครอฟต์กล่าวกับทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ว่า บลูทูธกับระบบไฟฟ้าทำงานกันบนคนละคลื่นความถี่ และไม่สามารถส่งผลตอบสนองกันได้

"บลูทูธทำงานด้วยเทคโนโลยีแบบไร้สาย สื่อสารและส่งข้อมูลผ่านสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจาก 'คลื่นความถี่วิทยุ' (RF EMF) ที่เดินทางผ่านอากาศ คลื่นแม่เหล็ก RF EMF เหล่านี้มีความถี่ที่ต่างจากกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำที่จ่ายไฟให้กับบ้านเรือนและรถไฟอย่างมาก และคลื่น RF EMF เหล่านี้ไม่สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาหรือส่งผลต่อคลื่นกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำได้" ครอฟต์กล่าว

"เช่นเดียวกัน อุปกรณ์บลูทูธเองก็ไม่สามารถก่อให้เกิดกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำที่ทำให้ไฟฟ้าช็อตบุคคลได้ ดังนั้น การใช้บลูทูธใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงหรือรถไฟนั้นจึงไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด" เขากล่าวเสริม

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา