วิดีโอจากหน้าสถานทูตตุรกีในโตเกียวปี 2558 ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า "ผู้อพยพชาวเคิร์ดก่อความวุ่นวาย" ในเมืองไซตามะ

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แชร์วิดีโอฉบับหนึ่งพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า วิดีโอดังกล่าวเผยให้เห็นผู้อพยพชาวเคิร์ดที่ "ก่อความวุ่นวาย" ในเมืองไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากจำนวนประชากรญี่ปุ่นลดลง อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ คลิปวิดีโอดังกล่าวปรากฏในรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวเคิร์ดและชาวตุรกีหน้าสถานทูตตุรกีในกรุงโตเกียว

"ผู้อพยพชาวเคิร์ตก่อความวุ่นวายในเมืองไซตามะของญี่ปุ่น เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายการย้ายถิ่นฐานเพื่อให้พวกเขาเหล่านี้เข้ามาได้มากขึ้น" บัญชี X บัญชีหนึ่งซึ่งมักเผยแพร่ข้อมูลเท็จเขียนคำบรรยายภาษาไทยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567

รายงานของสำนักข่าว Kyodo News ระบุว่า ในเมืองไซตามะ มีชาวเคิร์ดอาศัยอยู่ราว 2,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไร้รัฐ (ลิงก์บันทึก)

วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นเหตุชุลมุนต่อสู้ระหว่างคนกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามยับยั้งสถานการณ์ดังกล่าว โพสต์ดังกล่าวถูกรีโพสต์มากกว่า 1,000 ครั้ง และได้รับการกดถูกใจมากกว่า 780 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

วิดีโอพร้อมคำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ยังปรากฏอยู่ในโพสต์อื่นๆ เช่น โพสต์ภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และภาษาอังกฤษที่นี่  นี่ และ นี่

ความคิดเห็นจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนแสดงให้เห็นว่า พวกเขาเชื่อว่าวิดีโอดังกล่าวเกี่ยวข้องกับนโยบายผู้อพยพของประเทศญี่ปุ่นจริง

"ญี่ปุ่นควรเข้มงวดกฎที่อนุมัติวีซ่าให้ผู้อพยพจากตะวันออกกลาง เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม" ผู้ใช้งาน X รายหนึ่งระบุ

"ทำไมไม่รับคนไทยไปบ้าง รับแม่งแต่พวกมุสลิม ตัวสร้างปัญหา" ผู้ใช้งาน X อีกรายระบุ

ในเดือนมิถุนายน 2566 ญี่ปุ่นได้ประกาศใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลสามารถส่งผู้ขอลี้ภัยกลับประเทศบ้านเกิดได้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน (ลิงก์บันทึก)

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรกีและซีเรียในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ชาวเคิร์ดหลายร้อยคนได้ลี้ภัยมายังประเทศญี่ปุ่น (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายผู้อพยพของญี่ปุ่นแต่อย่างใด ที่จริงแล้ว วิดีโอนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2558 และแสดงให้เห็นเหตุการณ์การต่อสู้ระหว่างชาวตุรกีและชาวเคิร์ดหน้าสถานทูตตุรกีในกรุงโตเกียว

เหตชุลมุนในช่วงการเลือกตั้งของตุรกีปี 2558

การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมของวิดีโอ พบรายงานจากสำนักข่าว Medyascope ของประเทศตุรกี ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2558 (ลิงก์บันทึก)

พาดหัวของรายงานดังกล่าว แปลเป็นภาษาไทยว่า "นี่คือเหตุต่อสู้หน้าสถานทูตตุรกีในโตเกียวที่ถูกเผยแพร่ใน Periscope และสื่อญี่ปุ่น"

วิดีโอยูทูปแสดงช่วงหนึ่งของคลิปในรายงานข่าวในประเทศญี่ปุ่น ที่ภาพตรงกับคลิปวิดีโอในโพสต์เท็จ ในช่วงนาทีที่ 1:19 (ลิงก์บันทึก)

ผู้สื่อข่าวของ AFP ในกรุงโตเกียวยืนยันว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวมาจากรายงานของสื่อญี่ปุ่นชื่อ เจแปนนิวส์ เน็ตเวิร์ก ซึ่งสามารถสังเกตโลโก้ได้ที่ปรากฏอยู่มุมล่างขวาของคลิป (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว Medyascope ในช่องยูทูป (ขวา):

Image
Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว Medyascope ในช่องยูทูป (ขวา)

ในช่วงนาทีที่ 1:23 ในคลิปวิดีโอในโพสต์เท็จ สามารถสังเกตเห็นสัญลักษณ์คล้ายธงชาติตุรกีปรากฏอยู่ใกล้ประตูสีดำ ซึ่งสอดคล้องกับภาพกูเกิลสตรีทวิวที่บริเวณด้านหน้าสถานทูตตุรกีในกรุงโตเกียว (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) กับภาพกูเกิลสตรีทวิวของสถานทูตตุรกีในกรุงโตเกียว (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่สอดคล้องกัน:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) กับภาพกูเกิลสตรีทวิวของสถานทูตตุรกีในกรุงโตเกียว (ขวา)

AFP รายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 12 คนจากการต่อสู้หน้าสถานทูตก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งในประเทศตุรกีในเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่ความขัดแย้งระหว่างชาวตุรกีกับชาวเคิร์ดกำลังทวีความรุนแรง

รายงานไม่ได้ระบุถึงสาเหตุของการต่อสู้อย่างชัดเจน แต่สำนักข่าว Jiji Press ได้อ้างคำพูดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวตุรกีคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์ว่า การปะทะดังกล่าวเกิดขึ้นหลังมีคนพยายามชูธงของพรรคที่สนับสนุนชาวเคิร์ด

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา