โพสต์เท็จอ้างว่ากัปตันชาวยูเครนเป็นต้นเหตุที่ทำให้สะพานในบัลติมอร์ถล่ม

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แชร์คำกล่าวอ้างว่า กัปตันเรือชาวยูเครนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เรือบรรทุกสินค้าชนเข้ากับสะพานฟรานซิส สก็อตต์ คีย์ ในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ในความเป็นจริงแล้ว บันทึกเอกสารออนไลน์ยืนยันว่า บุคคลในภาพทำงานบนเรือลำดังกล่าวครั้งสุด้ทายในปี 2559 นอกจากนี้ ผู้ควบคุมเรือยังระบุว่า ลูกเรือทั้งหมดมาจากประเทศอินเดีย

"พบผู้รับผิดชอบเหตุสะพานบัลติมอร์พังแล้ว ปรากฏว่าเป็นกัปตันเรือคอนเทนเนอร์ที่ชนสะพาน ชื่อของเขาคือ Sergei และเขาเป็นคนยูเครน" โพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพของชายคนหนึ่งและข้อมูลส่วนตัวของเขา

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังถูกแชร์ในภาษาไทยที่นี่ และ นี่ รวมถึงในภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษภาษาโรมาเนียภาษาเซอร์เบีย และ ภาษาเยอรมัน

เรือคอนเทนเนอร์ต้าหลี่ (Dali) ชนเข้ากับสะพานฟรานซิส สก็อตต์ คีย์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ส่งผลให้เส้นทางการขนส่งสินค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ต้องหยุดชะงัก โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า เกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องบนเรือ ส่งผลให้เรือต้องส่งสัญญาณเหตุฉุกเฉิน และหย่อนสมอเรือลง ก่อนที่เรือจะชนเข้ากับโครงสร้างของสะพาน

ไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดภัยพิบัติ กระแสบนโลกออนไลน์มีการคาดเดาว่าเรือลำดังกล่าวตั้งใจชนสะพาน แม้ว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลกลางจะยืนยันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การก่อการร้ายก็ตาม

หนึ่งในโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเหล่านี้ยังอ้างถึง ประวัติส่วนตัวของลูกเรือที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของบริษัทบอลติก ชิปปิ้ง (Baltic Shipping) โดยเอกสารดังกล่าวยืนยันว่าลูกเรือสัญชาติยูเครนคนนี้เคยทำงานอยู่บนเรือต้าหลี่ 

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของเว็บไซต์ของบริษัทบอลติก ชิปปิ้ง

อย่างไรก็ตาม บันทึกการจ้างงานดังกล่าวแสดงหลักฐานตรงกันข้ามกับคำกล่าวอ้างที่ว่า ลูกเรือคนดังกล่าวอยู่บนเรือต้าหลี่ตอนเรือกำลังชนสะพาน

จากข้อมูลประวัติของลูกเรือในเว็บไซต์ของบริษัทบอลติก ชิปปิ้ง ซึ่งปัจจุบันถูกลบออกไปแล้ว ระบุว่า ลูกเรือคนดังกล่าวทำงานอยู่บนเรือต้าหลี่ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2559 จนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2559

ลูกเรือคนนี้ไปประจำการอยู่บนเรือที่ชื่อ CMA CGM MOMBASA จนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของเว็บไซต์ของบริษัทบอลติก ชิปปิ้ง ที่แสดงให้เห็นประวัติของลูกเรือ โดย AFP ได้เน้นข้อมูลสำคัญ

ซีเนอจี้ มารีน กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ที่ดำเนินการเรือต้าหลี่ ระบุในการแถลงการณ์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 (ลิงก์บันทึก) ว่า ลูกเรือทุกคนที่ทำงานบนเรือต้าหลี่เป็นชาวอินเดียทั้งหมด และเจ้าพนักงานนำร่องของท่าเรือบัลติมอร์ 2 คนมีหน้าที่ควบคุมเรือลำนี้ในช่วงที่เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว

สมาคมเจ้าพนักงานนำร่องของแมรีแลนด์ (ลิงก์บันทึก) ระบุในเว็บไซต์ว่า "เรือแต่ละลำที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่างประเทศที่เดินทางมาถึงท่าเรือแมรีแลนด์จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรือจากพื้นที่ท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่า 'เจ้าพนักงานนำร่อง' เพื่อให้คำแนะนำการเดินเรือจนเรือสามารถแล่นเข้าสู่ท่าเรืออย่างปลอดภัย" นอกจากนี้ เจ้าพนักงานนำร่องยังมีหน้าที่ให้คำแนะนำการเดินเรือเมื่อเรือแล่นออกจากท่าเรือด้วย

ยังไม่มีรายงานว่ามีลูกเรือได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังสะพานบัลติมอร์ดังกล่าวถล่ม ซึ่งรวมถึงเจ้าพนักงานนำร่อง 2 คนที่ยังไม่ถูกเปิดเผยชื่อด้วย

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม เจ้าหน้าที่กู้ภัยพบศพของคนงานก่อสร้าง 2 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ยังไม่พบคนงานอีก 4 คนที่ซ่อมแซมหลุมบ่อบนสะพานขณะเกิดอุบัติเหตุนั้น โดยสันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว

คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติกำลังสืบสวนเหตุการณ์เรือชนสะพานดังกล่าว (ลิงก์บันทึก)

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียกเหตุสะพานถล่มครั้งนี้ว่าเป็น "อุบัติเหตุร้ายแรง" และให้คำมั่นว่าจะเปิดท่าเรืออีกครั้งและสร้างสะพานแห่งนี้ขึ้นมาใหม่

AFP ได้ติดต่อซีเนอจี้ มารีน กรุ๊ปเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ 

สามารถอ่านรายงานที่ AFP ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับเหตุสะพานถล่มได้ที่นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา