
ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อ้างว่าเหตุสะพานบัลติมอร์ถล่มเกี่ยวข้องกับอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาอย่างไม่มีมูลความจริง
- เผยแพร่ วันที่ 12 เมษายน 2567 เวลา 05:38
- อัพเดตแล้ว วันที่ 12 เมษายน 2024 เวลา 06:08
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
- เขียนโดย: Bill MCCARTHY, AFP สหรัฐอเมริกา, AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ภาพสะพานถูกทำลายมีผู้แคปมาจาก OBAMA NETFLIX MOVIE "ทิ้งโลกไว้ข้างหลัง" และ สะพานมัลติมอร์ที่พวกเขาเพิ่งทำลายตามหลังโรงละครรัสเซียเมื่อ 22/3" เพจเฟซบุ๊กชื่อ สัญญาณมหากลียุค เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567
คำบรรยายเดียวกันนี้ยังระบุต่อว่า "การทำลายสะพานฟรานซิส สก็อตต์ คีย์ ในบัลติมอร์ ถือเป็นคำเตือนสำหรับอเมริกาหรือไม่? ตอบแทนว่าใช่ .. โกลาหล ทำลายสะพานคือการตัดขาดสิ่งจำเป็น เข้าข่ายปิดล้อมเมือง รองรับแผนสงครามกลางเมือง - การยึดครองของจีน"

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังปรากฏอยู่ในโพสต์อื่นในภาษาไทย เช่น ที่นี่ และ นี่
แมตต์ วอลเลซ คนดังในโลกออนไลน์ฝ่ายขวาจัดที่เคยแชร์ข้อมูลเท็จก่อนหน้านี้ ก็ได้แชร์คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ด้วยการโพสต์ภาพที่ถูกตัดต่อเพื่อแสดงภาพโอบามาชี้ไปที่เรือบรรทุกสินค้าที่ชนสะพาน
“ในปี 2567 ครอบครัวโอบามาได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Leave the World Behind โดยเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์ที่ส่งผลให้เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่เสียการควบคุมและแล่นเข้าชายหาด” วอลเลซเขียนคำบรรยายในโพสต์ของเขา “หลายเดือนต่อมา เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ลำหนึ่งเสียการควบคุมและชนเข้ากับสะพานฟรานซิส สก็อตต์ คีย์ในเมืองบัลติมอร์ และทำให้เกิดความเสียหายที่มีคนเสียชีวิต”
โพสต์ถัดมาของวอลเลซยังแสดงภาพโอบามาจับมือชายนิรนามบนเรือลำหนึ่ง โดยวอลเลซเขียนคำบรรยายว่า "พระเจ้า... บารัค โอบามาโดนจับได้ว่าเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังทุกอย่าง"


คำกล่าวอ้างเหล่านี้แพร่กระจายไปทั่วสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น X เฟซบุ๊ก หรือ อินสตาแกรม เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเรือสินค้าติดธงชาติสิงคโปร์ ซึ่งกำลังมุ่งหน้าไปยังประเทศศรีลังกา ได้ชนเข้ากับสะพานฟรานซิส สก็อตต์ คีย์ในเมืองบัลติมอร์ ซึ่งเป็นท่าเรือพาณิชย์สำคัญแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ทฤษฎีสมคบคิดแพร่กระจายในโลกออนไลน์
โพสต์เหล่านี้อ้างว่าอิสราเอล ยูเครน การโจมตีทางไซเบอร์ หรือแม้แต่องค์กรที่สนับสนุนความหลากหลายมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุสะพานถล่มครั้งนี้ แม้ว่าเวส มัวร์ ผู้ว่าการรัฐแมรีแลนด์ และหน่วยงานอื่นๆ จะยืนยันว่าไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือเป็นการก่อการร้าย
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีสมคบคิดที่อ้างว่าโอบามาเกี่ยวข้องกับเหตุสะพานถล่มนั้นไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด
หนังวันสิ้นโลก
ทฤษฎีสคบคิดดังกล่าวอ้างอิงภาพยนตร์เรื่อง Leave The World Behind ซึ่งเป็นภาพยนตร์ระทึกขวัญแนววันสิ้นโลกที่ฉายเมื่อปี 2566 ภาพยนตร์ดังกล่าวอำนวยการสร้างโดยไฮเออร์ กราวด์ โปรดักชั่น ซึ่งเป็นบริษัทที่บารัคและมิเชลล์ โอบามาก่อตั้งในปี 2561
เน็ตฟลิกซ์ระบุว่า ภาพยนตร์ที่สร้างจากนวนิยายดังกล่าวได้นักแสดงชั้นนำอย่าง จูเลีย โรเบิร์ตส์ มาเฮอร์ชาลา อาลี และ อีธาน ฮอว์ก มาแสดงนำ โดยเรื่องราวนั้นเกี่ยวกับวันหยุดของครอบครัวที่ "เกิดพลิกผันเมื่อคนแปลกหน้าสองคนปรากฏตัวขึ้นในตอนกลางคืน เพื่อหาที่หลบภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ที่ทวีความน่าสะพรึงกลัวมากขึ้นทุกนาที" (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่) โดยฉากหนึ่งในภาพยนตร์ ยังเผยให้เห็นเรือชื่อ "สิงโตขาว" แล่นเข้าสู่ชายหาดที่เต็มไปด้วยผู้คนด้วย (ลิงก์บันทึก)
แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่ผลงานต้นฉบับทีโอบามาสร้างขึ้น แต่เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของรูมานน์ อะลามที่ตีพิมพ์ในปี 2563 โดยอะลามและสามีภรรยาโอบามาถูกเลือกให้เป็น 3 ผู้อำนวยการสร้างจากทั้งหมด 6 คนของภาพยนตร์เรื่องนี้
เมื่อเกิดการแชร์ทฤษฎีสมคบคิดที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของสามีภรรยาโอบามาในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว แซม อิสมาอิล ผู้กำกับภาพยนตร์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบันเทิงออนไลน์ Collider ว่า "อดีตประธานาธิบดีโอบามาเข้ามาเป็นผู้อำนวยการสร้าง 2 เดือนก่อนเราเริ่มถ่ายทำ ดังนั้นสคริปต์ภาพยนตร์ถูกเขียนไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว" (ลิงก์บันทึก)
“แน่นอนว่าโอบามาได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสคริปต์ แต่สาระสำคัญของเรื่องและฉากต่างๆ ถูกเขียนไว้หมดแล้ว” อิสมาอิลกล่าว เขายังเสริมว่าคำกล่าวอ้างที่ว่าบารัค โอบามา “ส่งสัญญาณ” ว่าจะเกิดเหตุเรือชนสะพานผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นเป็นเรื่องที่ “ผิด”
อิสมาอิลกล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะของโอบามาเน้นไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวและธีมหลักของนวนิยาย นอกจากนี้ นิยายเล่มนี้ยังอยู่ในรายการหนังสือที่โอบามาแนะนำในปี 2564 ด้วย (ลิงก์บันทึก)
จากการค้นหาภาพแบบย้อนหลัง พบว่าภาพโอบามาจับมือชายคนหนึ่งบนเรือที่วอลเลซแชร์ใน X ไม่ได้เป็นภาพเรือต้าหลี่ที่ชนเข้ากับสะพานฟรานซิส สก็อตต์ คีย์แต่อย่างใด
ในความเป็นจริงแล้ว ภาพดังกล่าวถูกบันทึกไว้ขณะที่พรรคเดโมแครตขึ้นเรือทัวร์ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยภาพเดียวกันนี้ปรากฏในบัญชีอินสตาแกรมของบริษัททัวร์ที่แชร์ข้อมูลดังกล่าว (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
เรือสูญเสียไฟฟ้าและการควบคุม
แม้เจ้าหน้าที่ยังสอบสวนเหตุเรือชนสะพานอยู่ แต่พวกเขานระบุหลังเกิดเหตุเพียงไม่นานว่า เรือต้าหลี่สูญเสียไฟฟ้าและการควบคุม ก่อนที่เรือจะชนเข้ากับเสาของสะพาน
ภาพจากกล้องวงจรปิดเผยให้เห็นว่า ไฟฟ้าบนเรือต้าหลี่ดับลงสองครั้งในช่วงไม่กี่นาทีก่อนเกิดอุบัติเหตุ และยังมองเห็นควันลอยมาจากเรือลำดังกล่าวด้วย
ณ วันที่ 28 มีนาคม ยังไม่มีการสรุปสาเหตุที่ไฟฟ้าบนเรือดับอย่างเป็นทางการ แต่เจ้าหน้าที่ไม่พบหลักฐานว่ามีการก่อการร้ายแต่อย่างใด
“จนถึงตอนนี้ หลักฐานทุกอย่างชี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอุบัติเหตุร้ายแรง” ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวระหว่างแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 มีนาคม (ลิงก์บันทึก) “ในเวลานี้ เราไม่มีหลักฐานและเหตุผลอื่นใดที่ชี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเจตนา”
ลูกเรือบนเรือต้าหลี่ได้โทรแจ้งเหตุฉุกเฉินและขอเรือลากจูง ซึ่งมีส่วนช่วยชีวิตคน เพราะตำรวจได้สั่งปิดการจราจรไม่ให้รถขึ้นไปบนสะพานเพิ่ม นอกจากนี้ เจ้าพนักงานนำร่องยังสั่งการให้หางเสือหันไปทางซ้ายสุด และให้มีการหย่อนสมอเพื่อเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติด้วย
“เรือไม่สามารถรักษาทิศทางได้ตามที่ต้องการและชนเข้ากับสะพานฟรานซิส สก็อตต์ คีย์” สำนักงานการเดินเรือและการท่าเรือของสิงคโปร์ระบุ โดยอ้างถึงซีเนอจี้ มารีน กรุ๊ปที่บริหารจัดการเรือต้าหลี่
เจ้าหน้าที่ระบุว่า เรือต้าหลี่ผ่านการตรวจสอบในต่างประเทศ 2 ครั้งในปี 2566
ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งข้อสังเกตว่า โครงสร้างของสะพานอาจไม่แข็งแรงทนทานพอต่อแรงกระแทกจากเรือขนาดใหญ่อย่างเรือต้าหลี่
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง Leave The World Behind ที่นี่ และเหตุสะพานถล่มที่นี่ นี่ และ นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา