Britain's Catherine, Princess of Wales, announced her cancer diagnosis, on March 22, 2024. ( AFP / OLI SCARFF)

โพสต์เท็จเชื่อมโยงการป่วยด้วยโรคมะเร็งของเคท มิดเดิลตัน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่าไม่มีหลักฐานที่เชื่อมโยงโรคมะเร็งกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งหักล้างคำกล่าวอ้างเท็จที่แพร่กระจายในสื่อสังคมออนไลน์เมื่อไม่นานมานี้ หลังเคท มิดเดิลตัน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เปิดเผยว่าเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งในวัย 42 ปี นอกจากนี้ ผลการสำรวจวิจัยยังระบุว่า คนอายุน้อยมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นอย่างน้อย

"เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เคท มิดเดิลตัน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง - มีความเป็นไปได้สูงที่เธอจะเป็นมะเร็งเทอร์โบ ซึ่งเกิดจากวัคซีน mRNA ของโควิด-19 ที่เธอฉีดในปี 2021" เพจเฟซบุ๊กชื่อ สัญญาณมหากลียุค เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพถ่ายหน้าจอจากบทความข่าวปี 2564 ที่รายงานว่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรก

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

โพสต์ดังกล่าวอ้างอิงคำพูดของแพทย์ชาวแคนาดาชื่อ วิลเลียม มาคิส ที่กล่าวอ้างว่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ "ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง มีความเป็นไปได้สูงที่พระองค์จะเป็นมะเร็งเทอร์โบ ซึ่งเกิดจากวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ที่เธอฉีดในปี 2564"

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มาคิสกล่าวอ้างไว้ที่นี่  นี่ และ นี่

คำกล่าวอ้างเท็จดังกล่าวถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ หลังมิดเดิลตันเปิดเผยผ่านวิดีโอเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 ว่า เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง และอยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัดเชิงป้องกัน

มิดเดิลตันได้รับความเห็นอกเห็นใจจากคนทั่วโลก หลังวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะยุติข่าวลือเกี่ยวกับเธอ หลังเธอไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นเวลานานหลายเดือน

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 มิดเดิลตันประกาศทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า เธอฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดสแรก แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นวัคซีนประเภทใด (ลิงก์บันทึก)

คำกล่าวอ้างที่เชื่อมโยงการป่วยของมิดเดิลตันกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังถูกแชร์ในภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ  ภาษาฝรั่งเศส  ภาษาโครเอเชีย  ภาษาสเปน และ ภาษาเยอรมัน

'ไม่มีหลักฐาน'

"ปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนใดๆ ก็ตามก่อให้เกิดมะเร็ง" หน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะด้านมะเร็งขององค์การอนามัยโลก กล่าวกับ AFP ทางอีเมลเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 (ลิงก์บันทึก)

"มีการศึกษาอัตราการเกิดโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อยตั้งแต่ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดและการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีน" IARC กล่าวเสริม

มายา กูเทียร์เรซ ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยาทางการแพทย์ที่สถาบันกูรี ในประเทศฝรั่งเศส กล่าวกับ AFP ในปี 2565 ว่า คำกล่าวอ้างใดๆ ที่เชื่อมโยงวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับอัตราการเกิดโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นคำกล่าวอ้างที่ "ไร้เหตุผล" (ลิงก์บันทึก)

“ในแง่ของระยะเวลา มันสั้นเกินไป จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่การฉีดวัคซีนจะทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ นอกจากนี้ คำกล่าวอ้างนี้ยังมีความไม่สอดคล้องกันอยู่ 2 ประการ ทั้งในด้านกลไกและจังหวะเวลา” กูเทียร์เรซกล่าว

งานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอายุของคนและความเสี่ยงต่อการตายนั้นใช้ข้อมูลที่รวบรวมก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงของโรคมะเร็งในคนหนุ่มสาวนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

รายงานของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาที่ตีพิมพ์ในเดือนมกราคม 2567 ระบุว่า "คนหนุ่มสาวเป็นกลุ่มเดียวที่พบว่ามีการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2538 ถึง 2563" (ลิงก์บันทึก)

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Oncology ในปี 2566 ชี้ว่า อัตราของกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 50 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งที่พบบ่อย 29 ชนิดนั้นได้เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 80 ทั่วโลก ระหว่างปี 2533 ถึง 2562 (ลิงก์บันทึก)

คิมมี อึ้ง ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยา จากสถาบันมะเร็งดานา-ฟาร์เบอร์ กล่าวว่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์เป็น "อีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความน่ากังวลของอัตราการเกิดมะเร็งที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 50 ปี"

มะเร็งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย

ชิวาน ศิวะกุมาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยาและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม กล่าวกับ AFP ว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้อัตราการเป็นมะเร็งในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 50 ปีเพิ่มขึ้น “ฉันไม่คิดว่าเราจะสรุปความเชื่อมโยงได้ ฉันทราบถึงข้อมูลที่มีมากว่า 10-15 ปีแล้ว โรคมะเร็งไม่ได้แค่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น"

นักวิจัยบางคนกล่าวโทษว่า วิถีการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ในกลุ่มคนอายุน้อย (ลิงก์บันทึก)

การวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นส่วนหนึ่งยังอธิบายถึงอัตราการเกิดมะเร็งที่สูงขึ้นนี้ว่า ก่อนช่วงปี 2553 ไม่พบมะเร็งจำนวนมากเหล่านี้ในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 50 ปี

นอกจากนี้ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมการแพทย์อเมริกันเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ระบุว่า "เดิมทีแล้ว มะเร็งเป็นโรคของผู้สูงอายุ (กลุ่มคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป)" (ลิงก์บันทึก)

งานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้ยังระบุสาเหตุของอัตราที่เพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งในกลุ่มคนอายุน้อยว่ามาจาก "โรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ฝุ่นควันและน้ำมัน ปัญหาการนอนหลับ การขาดการออกกำลังกาย จุลินทรีย์ และการสัมผัสกับส่วนประกอบของสารก่อมะเร็ง"

โพสต์เท็จเหล่านี้ยังอ้างว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะทำให้เกิด "มะเร็งเทอร์โบ" ซึ่ง "เติบโตอย่างรวดเร็ว" และอาจ "ลุกลาม" ไปส่วนอื่นของร่างกาย อีกทั้งยังอ้างว่ารหัสคำสั่งทางพันธุกรรมที่ได้รับจากวัคซีนชนิด mRNA นั้นเป็นสาเหตุที่ร่างกายสร้างโปรตีนหนาม (spike protein) ขึ้นมา

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับโปรตีนหนามจากวัคซีนป้องกันโควิดที่นี่  นี่ และ นี่

ขณะเดียวกัน แพทย์คนอื่นๆ ได้อธิบายกับ AFP อยู่หลายครั้งว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าความเสี่ยง ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (ลิงก์บันทึก)

หน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) แนะนำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งวัคซีนป้องกันโควิด-19 "เนื่องจากพวกเขามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคและภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโควิดได้"

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา