ภาพถ่ายอาคารเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวปี 2561 ถูกแชร์ว่าเป็นเหตุแผ่นดินไหวในไต้หวันเดือนเมษายน 2567
- เผยแพร่ วัน 4 เมษายน 2024 เวลา 10:45
- อัพเดตแล้ว วัน 11 เมษายน 2024 เวลา 12:30
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Jan Cuyco, AFP ฟิลิปปินส์
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"อัพเดท! #แผ่นดินไหว ที่ #ไต้หวัน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย บาดเจ็บ 50 คน - รอยเตอร์ อาคารอย่างน้อย 26 หลังพังถล่มและมีผู้ติดอยู่ในอาคาร - ยอนฮับ" ผู้ใช้งาน X บัญชีหนึ่งเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567
โพสต์ดังกล่าวแสดงให้เห็นอาคารหลายชั้นแห่งหนึ่งที่เอียงไปในมุมที่ไม่มั่นคง และมีรถพยาบาลหลายคันจอดอยู่
ในวันเดียวกัน ผู้ใช้งาน X อีกรายเขียนคำบรรยายว่า "วันที่ 2 เมษายน ไต้หวันเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ริกเตอร์ รุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี"
ภาพมุมสูงในโพสต์แสดงในเห็นอาคารเดิม ถูกแชร์พร้อมข้อความในภาพระบุว่า "แผ่นดินไหวไต้หวัน 7.4 ริกเตอร์ รุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี"
ภาพเดียวกันนี้และภาพคล้ายๆ กันนี้ยังถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยที่นี่ และ นี่ และในประเทศฟิลิปปินส์ที่นี่ และ นี่
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในไต้หวัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7 รายและบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน เหตุการณ์ดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดการประกาศเตือนสึนามิในญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ก่อนคำเตือนจะถูกยกเลิกในเวลาต่อมา
อู๋ เชียนฟู ผู้อำนวยการศูนย์แผ่นดินไหววิทยา สำนักพยากรณ์อากาศกลางของกรุงไทเป ระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอฮัวเหลียน ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของไต้หวัน และถือว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี
แม้ว่าสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นจะเผยแพร่ภาพอาคารในไต้หวันเอียงอย่างน่าหวาดเสียวหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในเมืองฮัวเหลียนและที่อื่นๆ แต่ภาพในโพสต์ X ดังกล่าวเป็นภาพเก่าจากปี 2561
ภาพอาคารเอียงอีกภาพที่คล้ายกันนี้ยังเคยถูกแชร์อย่างไม่ถูกต้องว่าเป็นภาพจากเหตุแผ่นดินไหวในไต้หวันเมื่อเดือนธันวาคม 2563 โดย AFP ได้ตรวจสอบและเผยแพร่รายงานไว้ที่นี่
ภาพจากปี 2561
สำหรับภาพแรก AFP ได้ค้นหาภาพแบบย้อนหลังในกูเกิล และพบบทความ New Scientist ที่แชร์ภาพเดียวกันนี้ โดยคำบรรยายใต้ภาพระบุว่า "อาคารเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในทางตะวันออกของไต้หวันปี 2561" (ลิงก์บันทึก)
คำบรรยายระบุเครดิตช่างภาพว่า ถ่ายโดย "Richie B Tongo/EPA-EFE/Shutterstock"
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพที่ปรากฏในบทความ New Scientist (ขวา):
ส่วนอีกภาพนั้น AFP ได้ค้นหาภาพแบบย้อนหลังในกูเกิล และพบภาพที่เผยแพร่โดยสถานีโทรทัศน์ต่างประเทศ Voice of America เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 (ลิงก์บันทึก)
คำบรรยายใต้ภาพระบุว่า "อาคารที่พักล้มลงและเอียงจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ในเมืองฮัวเหลียน ทางตอนใต้ของไต้หวัน"
คำบรรยายระบุเครดิตภาพว่ามาจากสำนักข่าวกลางของไต้หวัน (Central News Agency)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพถ่ายของสำนักข่าวกลางของไต้หวันที่บันทึกเหตุแผ่นดินไหวในปี 2561 (ขวา):
AFP และสถานีโทรทัศน์ของสหรัฐฯ ABC News ได้เผยแพร่ภาพที่คล้ายกันของอาคารที่ล้มลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
AFP สามารถระบุตำแหน่งของอาคารดังกล่าวได้ว่า อยู่บนถนน Guosheng 2 ในเมืองฮัวเหลียน จากภาพกูเกิลสตรีทวิวในปี 2560 (ลิงก์บันทึก)
ภาพสตรีทวิวจากเดือนพฤษภาคม 2566 แสดงให้เห็นว่าอาคารดังกล่าวถูกดัดแปลงเป็นลานจอดรถหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว (ลิงก์บันทึก)
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของภาพสตรีทวิวเมื่อปี 2560 (ซ้าย) และภาพจากปี 2566 (ขวา):
รายงานของ AFP เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ระบุว่า อาคารดังกล่าวถูกรื้อถอนหลังเกิดแผ่นดินไหวจากเหตุผลด้าน "ความปลอดภัย"
ภาพหรือวิดีโอเก่ามักถูกนำกลับมาเผยแพร่บนโลกออนไลน์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิด หลังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับแผ่นดินไหว เช่น ที่นี่ นี่ และ นี่
รายงานนี้ได้รับการแก้ไขการระบุถึงขนาดของแผ่นดินไหว แทนการใช้หน่วยวัด11 เมษายน 2567 รายงานนี้ได้รับการแก้ไขการระบุถึงขนาดของแผ่นดินไหว แทนการใช้หน่วยวัด
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา