วิดีโอที่ใช้เทคนิคพิเศษถูกนำมาแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างบิดเบือนว่า ตึกไทเป 101 สั่นสะเทือนระหว่างเหตุแผ่นดินไหวในไต้หวันปี 2567
- เผยแพร่ วัน 12 เมษายน 2024 เวลา 10:03
- อัพเดตแล้ว วัน 12 เมษายน 2024 เวลา 10:22
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: AFP อินโดนีเซีย, AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ผู้ใช้งานติ๊กตอกแชร์วิดีโอฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 โดยวิดีโอดังกล่าวเผยให้เห็นตึกไทเป 101 ซึ่งเป็นตึกที่สูงที่สุดในไต้หวัน สั่นไหวไปมาอย่างน่าหวาดเสียว
“ตึกไทเป 101 ถูกออกแบบ มาเพื่อให้สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากการเกิดแผ่นดินไหวได้มากถึง 8-9 ริกเตอร์" ข้อความที่ฝังอยู่ในวิดีโอดังกล่าวระบุ
วิดีโอดังกล่าวมีผู้ชมมากกว่า 1.1 ล้านครั้งและได้รับการกดถูกใจมากกว่า 26,300 ครั้ง
วิดีโอดังกล่าวยังปรากฏพร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ในภาษาไทยที่นี่ นี่ และ นี่
นอกจากนี้ ยังพบวิดีโอและคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ในภาษาอื่น เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาตากาล็อก และ ภาษาอินโดนีเซีย
โพสต์เหล่านี้ปรากฏขึ้นหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ริกเตอร์ที่เมืองฮัวเหลียนในไต้หวัน ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงไทเปประมาณ 100 กิโลเมตร (60 ไมล์)
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในไต้หวันในรอบ 25 ปี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 13 รายและผู้บาดเจ็บกว่า 1,100 ราย อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบอาคารที่เข้มงวดและการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติในไต้หวันมีส่วนช่วยอย่างมากให้สามารถหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่ร้ายแรงกว่านี้ได้
ครั้งหนึ่ง ตึกไทเป 101 เคยเป็นอาคารที่สูงที่สุดในโลก ก่อนจะถูกตึกเบิร์จคาลิฟาในเมืองดูไบแซงหน้าไป ตึกดังกล่าวสามารถรับมือต่อเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ได้ เนื่องจากโครงสร้างมีความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นของ แถมยังมีลูกตุ้มยักษ์ที่ช่วยเรื่องการทรงตัวของตึกอีกด้วย (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเท็จ เนื่องจากวิดีโอดังกล่าวไม่ได้แสดงภาพตึกไทเป 101 สั่นสะเทือนช่วงแผ่นดินไหวในไต้หวันเมื่อเดือนเมษายน 2567
'เทคนิคพิเศษ' (Special Effect)
วิดีโอต้นฉบับนั้นปรากฏอยู่ในโพสต์ของผู้ใช้งานติ๊กตอกรายหนึ่งในไต้หวันตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2565 ก่อนโพสต์ดังกล่าวจะถูกลบไปในเวลาต่อมา (ลิงก์บันทึก)
เมื่อมีผู้ชมเขียนคำถามว่า ตึกไทเป 101 จะถล่มลงมาหรือไม่ ผู้ใช้งานติ๊กตอกคนดังกล่าวได้เขียนตอบเป็นภาษาอินโดนีเซียว่า "ไม่ต้องห่วง วิดีโอนี้เป็นวิดีโอที่ใช้เทคนิคพิเศษเท่านั้น"
ก่อนหน้านี้ AFP ได้เผยแพร่รายงานที่ตรวจสอบวิดีโอดังกล่าว หลังพบคำกล่าวอ้างเท็จที่เชื่อมโยงวิดีโอดังกล่าวกับเหตุแผ่นดินไหวในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไต้หวันในเดือนกันยายน ปี 2565
AFP ได้บันทึกวิดีโอที่เผยให้เห็นภาพมุมกว้างของเมืองไทเประหว่างเกิดเหตุแผ่นดินไหวในเดือนเมษายน 2567 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ตึกไทเป 101 ไม่ได้สั่นสะเทือนอย่างรุนแรงเหมือนวิดีโอในโพสต์เท็จ
เมื่อพิจารณาวิดีโอของ AFP อย่างละเอียด จะสังเกตเห็นว่าตึกรอบๆ ตึกไทเป 101 นั้นไม่ได้ปรากฏอยู่ในวิดีโอที่โพสต์เท็จแชร์
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอของ AFP (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบสำคัญ
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ตึกไทเป 101 ได้เผยแพร่แถลงการณ์ไว้ในเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการเพื่อหักล้างวิดีโอและคำกล่าวอ้างเท็จนี้ (ลิงก์บันทึก)
“ตึกไทเป 101 เปิดให้บริการตามปกติหลังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 3 เมษายน” คำบรรยายในโพสต์ระบุ "โปรดอย่าแชร์หรือโพสต์วิดีโอจำลองสถานการณ์ดังกล่าวซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้"
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุแผ่นดินไหวในไต้หวันในเดือนเมษายน 2567 เช่น ที่นี่ นี่ และ นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา