คลิปวิดีโอตึกถล่มนี้ไม่ได้มาจากเหตุแผ่นดินไหวไต้หวันในปี 2567

วิดีโอที่แสดงภาพอาคารสูงหลายหลังที่กำลังพังถล่มถูกนำมาแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพที่บันทึกจากเหตุแผ่นดินไหวไต้หวันเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวเป็นภาพเก่าจากเหตุการณ์ระเบิดทำลายอาคารสูงในจีนตั้งแต่ปี 2564

คลิปวิดีโอนี้ถูกโพสต์ลง X เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567

คำบรรยายบนโพสต์ดังกล่าวเขียนว่า "ข่าวด่วนจาก #ไต้หวัน เหตุการณ์สุดช็อก เกิดขึ้นที่ไต้หวัน ! ดูสภาพตึกระฟ้า!"

วิดีโอดังกล่าวใช้คลิปวิดีโออาคารหลายหลังกำลังถล่มพร้อม ๆ กัน ซึ่งนำมาจากวิดีโอบน TikTok ที่ได้ถูกลบออกจากระบบไปแล้ว

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จบน X

โพสต์คล้าย ๆ กันถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ทั้งอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก อีกทั้งยังมีโพสต์และคำกล่าวอ้างเท็จที่ถูกแชร์เป็นภาษาไทยด้วย

เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ในไต้หวันส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 1,100 คน โดยถือเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษของไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับที่เข้มงวดในการก่อสร้างอาคารและความตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับภัยพิบัติได้เป็นปัจจัยช่วยจำกัดความสูญเสียของภัยพิบัติครั้งนี้ได้

อาคาร 'ยูเรนัส' ในเมืองฮวาเหลียน ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้จุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว เป็นอาคารที่จะต้องถูกรื้อถอนในภายหลัง เนื่องจากอาคารอยู่ในสภาพเอียงอย่างน่ากังวล

อย่างไรก็ตาม วิดีโออาคารถล่มและคำกล่าวอ้างเท็จที่ถูกนำมาแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์นั้นไม่ได้มาจากเหตุแผ่นดินไหวในไต้หวัน แต่เป็นการระเบิดทำลายกลุ่มอาคารสูงในจีนเมื่อ 3 ปีก่อน

AFP ได้นำคีย์เฟรมในวิดีโอดังกล่าวไปใช้ค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล และพบวิดีโอที่มีลักษณะคล้ายกันถูกแชร์ในปี 2564 (ลิงก์บันทึก) แม้ว่าจะเป็นภาพจากอีกมุม แต่วิดีโอทั้งสองก็แสดงภาพอาคารหลังเดียวกันที่มีองค์ประกอบหลายจุดที่ตรงกัน ทั้งสวนลอยฟ้าและสนามเทนนิส ตามภาพด้านล่าง:

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอที่ถูกโพสต์ลงใน X โดย AFP ทำสัญลักษณ์ในส่วนองค์ประกอบภาพที่ตรงกัน
Image
ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอที่ถูกโพสต์ลงใน X โดย AFP ทำสัญลักษณ์ในส่วนองค์ประกอบภาพที่ตรงกัน

นอกจากนี้ ยังพบวิดีโออื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน รวมถึง USA Today ก็ได้เผยแพร่วิดีโอที่แสดงภาพอีกมุมของอาคารหลายหลังที่กำลังถล่ม (ลิงก์บันทึก)

"อาคาร 15 หลังที่ตั้งตระหง่านในบริเวณเดียวกันมานาน 7 ปีในจีนได้ถูกระเบิดทำลายลงแล้ว เหตุถูกทิ้งร้างมานานและโครงสร้างอาคารเสียหายจากน้ำฝน" USA Today ระบุคำบรรยายประกอบวิดีโอเป็นภาษาอังกฤษ

วิดีโอนี้แสดงภาพในมุมอื่นของอาคารบริเวณพื้นหลังที่มีลักษณะคล้ายกันกับในวิดีโอที่กำลังถูกแชร์ในโลกออนไลน์ในขณะนี้

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอที่ถูกโพสต์ลงใน X โดย AFP ทำสัญลักษณ์ในส่วนองค์ประกอบภาพที่ตรงกัน
Image
ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอที่ถูกโพสต์ลงใน X โดย AFP ทำสัญลักษณ์ในส่วนองค์ประกอบภาพที่ตรงกัน

Vice สื่ออเมริกา-แคนาดา รายงานว่าอาคารสูงหลายหลังในเมืองคุนหมิงทางตอนใต้ของจีนถูกระเบิดทำลายในวันที่ 27 สิงหาคม 2564 (ลิงก์บันทึก)

ด้าน Global Times สื่อของทางการจีนรายงานว่า อาคารสูงระฟ้า 15 หลังที่ถูกระเบิดทำลาย เดิมทีมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่พักอาศัยแต่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ (ลิงก์บันทึก)

AFP ได้ตรวจสอบข้อมูลเท็จในโพสต์อื่น ๆ ที่กล่าวอ้างว่าวิดีโออาคารถล่มในจีนเกิดจากเหตุแผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรียในปี 2566 และแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นในปี 2567 ชายัน ซาร์ดาริซาเดห์ (Shayan Sardarizadeh) ผู้สื่อข่าว BBC รายงานเพิ่มเติมว่า วิดีโอนี้ถูกแชร์อย่างผิด ๆ ว่ามาจากเหตุการณ์อิสราเอลทิ้งระเบิดใส่ฉนวนกาซา

อ่านรายงานตรวจสอบข้อมูลเท็จเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวไต้หวันเพิ่มเติมได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา