ญี่ปุ่นไม่ได้ห้ามผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 บริจาคเลือด จากความหวาดระแวงเรื่องการ 'ปนเปื้อน'
- เผยแพร่ วัน 5 เมษายน 2024 เวลา 05:34
- อัพเดตแล้ว วัน 30 เมษายน 2024 เวลา 10:45
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Julie PACOREL, AFP ฝรั่งเศส, AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ญี่ปุ่นเสนอห้ามผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 บริจาคโลหิต เนื่องจากมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายจาก mRNA" เพจเฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567
คำบรรยายภาพกล่าวต่อไปว่า "ทีมนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้รัฐบาลสั่งห้ามการฉีดวัคซีน mRNA เพื่อป้องกันโควิดโดยทันที และห้ามใครก็ตามที่ได้รับวัคซีนจากการให้เลือด"
โพสต์เดียวกันนี้ยังแชร์ภาพแขนของบุคคล และข้อความภาษาไทยว่า "ญี่ปุ่นห้ามผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนบริจาค 'เลือดปนเปื้อน'"
โพสต์ดังกล่าวได้รับการกดถูกใจ 300 ครั้ง และแชร์ 130 ครั้ง
คำกล่าวอ้างว่าญี่ปุ่นสั่งห้ามผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 บริจาคเลือดนั้นยังถูกแชร์ในโพสต์อื่นๆ ในประเทศไทย เกาหลีใต้ และ สหราชอาณาจักร โดย AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างนี้หลังพบโพสต์เท็จแพร่ระบาดในภาษาฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ญี่ปุ่นยังไม่มีการสั่งห้ามการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และผู้ที่ฉีดวัคซีนยังสามารถบริจาคเลือดได้ตามปกติ จากข้อมูลล่าสุดในเดือนเมษายน 2567
ไม่มีการห้ามฉีดวัคซีนและห้ามบริจาคเลือด
ญี่ปุ่นได้ยุติโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฟรี ให้กับประชาชนในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม พลเมืองญี่ปุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปียังสามารถฉีดวัคซีนได้ โดยจะต้องชำระค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงมีนโยบายจัดสรรการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฟรีให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อไป (ลิงก์บันทึก)
ณ วันที่ 5 เมษายน 2567 เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น (ลิงก์บันทึก) ระบุว่า "รัฐบาลท้องถิ่นจะจัดให้มีการฉีดวัคซีนทั่วไป ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาวปี 2067 สำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้มีอายุ 60-64 ปีที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ไต หรือระบบทางเดินหายใจ"
สภากาชาดญี่ปุ่นได้ชี้แจงทางเว็บไซต์ว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนยังมีสิทธิ์บริจาคเลือดอยู่ (ลิงก์บันทึก)
สภากาชาดแนะนำให้ผู้ที่ต้องการบริจาคเลือดเว้นระยะ 48 ชั่วโมงหลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิดชนิด mRNA จึงจะบริจาคเลือด
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่ว่า ญี่ปุ่นสั่งห้ามไม่ให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนชนิด mRNA บริจาคเลือด โดยเผยแพร่รายงานไว้ในปี 2564
แม้ว่างานวิจัยฉบับใหม่ในญี่ปุ่นจะเน้นย้ำถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจาก "การถ่ายทอดสารพันธุกรรมผ่านวัคซีน" แต่งานวิจัยดังกล่าวยังไม่ได้รับการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ (ลิงก์บันทึก)
ปัจจุบัน งานวิจัยนี้อยู่ในสถานะ "pre-print" (ยังไม่ได้ตีพิมพ์) หลังถูกเผยแพร่ออนไลน์ในเดือนมีนาคม 2567 บนเว็บไซต์ที่อนุญาตให้เผยแพร่ได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบเบื้องต้น
งานวิจัยฉบับนี้ถูกเผยแพร่เพียงหนึ่งวันหลังถูกส่งไปยังเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินกว่าจะมีการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยคือ มาซาโนริ ฟุกุชิมะ อดีตศาสตราจารย์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "ผู้นำด้านการต่อต้านวัคซีน" โดยทาโร่ โคโนะ อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศญี่ปุ่น และหัวหน้าฝ่ายวัคซีนของรัฐบาลญี่ปุ่น
คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเลือดของผู้ที่ฉีดวัคซีนเป็น "เลือดปนเปื้อน" ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนนั้นถูกแชร์อย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่มีการเปิดตัววัคซีนป้องกันโควิด-19 ในปี 2563
สภากาชาดอเมริกันได้อธิบายกับ AFP ในปี 2565 ว่า ส่วนประกอบของวัคซีนนั้นไม่ได้ไหลเวียนเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่ฉีดวัคซีน
'การตายกะทันหัน' ไม่ได้เพิ่มขึ้น
การลดลงของจำนวนประชากรในญี่ปุ่นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามคำกล่าวอ้าง
ข้อมูลที่ชี้ว่าจำนวนประชากรของญี่ปุ่นลดลงนั้นมีมานานกว่าทศวรรษแล้ว ในขณะที่อัตราการเติบโตนั้นติดลบ และอัตราการเสียชีวิตมีมากกว่าอัตราการเกิดใหม่ (ลิงก์บันทึก)
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จที่ระบุว่า 2 ใน 3 ของผู้ฉีดวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ในญี่ปุ่นเสียชีวิต 10 วันหลังฉีดวัคซีน
ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอจากเว็บไซต์ของธนาคารโลก โดยกราฟแสดงให้เห็นจำนวนประชากรของญี่ปุ่นย้อนหลังไปถึงปี 2553
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุย้ำว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังปลอดภัย และผลข้างเคียงที่ร้ายแรงนั้น "พบได้ยากมาก" (ลิงก์บันทึก)
AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เชื่อมโยงการฉีดวัคซีนกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่ถูกต้องที่นี่ และ นี่
รายงานนี้ได้รับการแก้ไข วันที่ของแถลงการณ์กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เกี่ยวกับนโยบายจัดสรรการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จาก 2563 เป็น 256730 เมษายน 2567 รายงานนี้ได้รับการแก้ไข วันที่ของแถลงการณ์กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เกี่ยวกับนโยบายจัดสรรการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จาก 2563 เป็น 2567
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา