โพสต์แชร์วิดีโอพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าชาวปาเลสไตน์เฉลิมฉลองหลังอิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอล

เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา อิหร่านได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอลเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้เกิดกระแสการแชร์ข่าวเท็จต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในสื่อสังคมออนไลน์ โดยหลายโพสต์อ้างว่าชาวปาเลสไตน์มารวมตัวกันที่มัสยิดอัล-อักซอ ในนครเยรูซาเลม เพื่อเฉลิมฉลองที่อิหร่านถล่มอิสราเอล อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเท็จ เนื่องจากวิดีโอเหล่านี้เคยถูกโพสต์เมื่อหลายวันก่อนเกิดเหตุโจมตี

"‘ปาเลสไตน์’ ฉลอง อิหร่านถล่มอิสราเอล" ผู้ใช้งาน YouTube บัญชีหนึ่ง ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 140,000 คน ได้โพสต์วิดีโอพร้อมคำบรรยายเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จในช่องยูทูป

วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นฝูงชนจำนวนมากโห่ร้องเป็นภาษาอาหรับ โดยมีโดมศิลาทองในเขตมัสยิดอัล-อักซอ นครเยรูซาเลม ปรากฏอยู่ในพื้นหลัง

วิดีโอและคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียวกันถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ในภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และในภาษาอังกฤษที่นี่  นี่ และ นี่ 

อิหร่านโจมตีอิสราเอล

ในช่วงดึกของวันที่ 13 เข้าสู่วันที่ 14 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา อิหร่านได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอลเป็นครั้งแรกด้วยการยิงขีปนาวุธร่อน ขีปนาวุธทิ้งตัว และโดรนมากกว่า 300 ลูกเข้าไปยังพื้นที่ทางทหารของอิสราเอล โดยอิหร่านให้เหตุผลว่าเป็นการตอบโต้การโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 (ลิงก์บันทึก)

ประชาชนชาวอิหร่านหลายพันคนได้รวมตัวกันบริเวณจตุรัสปาเลสไตน์ กรุงเตหะราน เพื่อส่งเสียงโห่ร้องสนับสนุนการโจมตีอิสราเอล (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม วิดีโอที่แสดงภาพกลุ่มคนกำลังเฉลิมฉลองในเขตมัสยิดอัล-อักซอ นครเยรูซาเลม ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุอิหร่านโจมตีอิสราเอลแต่อย่างใด

วิดีโอถูกแชร์ก่อนเกิดเหตุโจมตี

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบวิดีโอเดียวกันถูกเผยแพร่ใน X โดยมาจากบัญชีของผู้ใช้งานรายหนึ่งที่ใช้ภาษาตุรกี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่โพสต์ก่อนอิหร่านจะเปิดฉากโจมตีอิสราเอลระหว่างวันที่ 13-14 เมษายน

"คนมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่เยรูซาเลม สถานที่: มัสยิดอัล-อักซอ" คำบรรยายของวิดีโอในโพสต์บน X ดังกล่าวระบุ (ลิงก์บันทึก)

นอกจากนี้ วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกโพสต์ในบัญชีอินสตาแกรมของผู้ใช้งานภาษาตุรกีในวันที่ 6 เมษายน 2567 (ลิงก์บันทึก)


นอกจากนี้ ยังพบวิดีโอเดียวกันซึ่งมีความละเอียดภาพสูงกว่าถูกแชร์ไว้ในติ๊กตอก พร้อมแฮชแท็กที่แปลเป็นภาษาไทยว่า #ฟัจญรฺวันศุกร์  #ศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอน และ #เยรูซาเลม (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567

โพสต์เหล่าชี้ให้เห็นว่า คลิปวิดีโอนี้ถูกบันทึกไว้เมื่อวันที่ 5 เมษายน หรือวันศุกร์สุดท้ายของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

วันที่ 10 มีนาคม ถึง 9 เมษายนเป็นเดือนรอมฎอนประจำปี 2567 ตามปฏิทินจันทรคติของชาวมุสลิม

AFP รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ชาวมุสลิมมากกว่า 120,000 คน มารวมตัวกันที่มัสยิดอัล-อักซอ เพื่อเฉลิมฉลอง "ลัยละตุลก็อดร์" หรือ "คืนแห่งพลัง" ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นค่ำคืนแห่งการเฉลิมฉลองการปรากฏกายครั้งแรกของทูตสวรรค์กาเบรียล และประทานโองการแรกของอัลกุรอานให้แก่ศาสดามุฮัมมัด (ลิงก์บันทึก)

ผู้สื่อข่าว AFP ประจำประเทศเลบานอนระบุว่า เสียงในวิดีโอนั้นมาจากคลิปวิดีโอการชุมนุมของกลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์ในจอร์แดน ซึ่งถูกโพสต์บน YouTube เมื่อปี 2560 (ลิงก์บันทึก) โดยก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จในอีกกรณีที่ใช้เสียงจากวิดีโอเดียวกันนี้ไปแอบอ้างเป็นภาษาอาหรับ สามารถอ่านรายงานดังกล่าวได้ที่นี่

เสียงตะโกนที่ถูกนำไปใช้อยู่ในช่วง 8 วินาทีแรกของคลิปวิดีโอต้นฉบับใน YouTube

"Labbyaka ya Aqsa" หรือ "ข้าน้อมเคารพโออักซอ" เป็นวลีที่มักใช้เมื่อมีการรวมตัวทางศาสนาหรือการชุมนุมของกลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์ในตะวันออกกลาง

มัสยิดอัล-อักซอ หรือที่ชาวยิวเรียกกันว่า "เนินพระวิหาร" ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามและยูดาห์ ตั้งอยู่ในนครเยรูซาเลมฝั่งตะวันออกซึ่งถูกผนวกเข้ากับอิสราเอล และยังเป็นใจกลางของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มายาวนาน

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา