โพสต์เท็จแชร์คำกล่าวอ้างว่าประชาชน 'แห่ถอนเงิน' หลังรัฐบาลไทยเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

รัฐบาลไทยปฏิเสธโพสต์ที่แชร์ภาพพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า ประชาชน "แห่ถอนเงิน" ออกจากธนาคารหลังรัฐบาลแถลงรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่าจะใช้แหล่งเงินจากของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คำกล่าวอ้างว่าประชาชนแห่ถอนเงินนั้นเป็นเท็จ เนื่องจากภาพในโพสต์เหล่านี้เป็นภาพเก่าจากเมื่อหลายปีก่อน นอกจากนี้ จนถึงวันที่ 23 เมษายน 2567 ยังไม่พบรายงานว่าประชาชนจำนวนมากแห่ถอนเงินที่สาขาต่าง ๆ ของธ.ก.ส. แต่อย่างใด

"กลัวเอาไปแจกก็เลยแห่ถอนเงิน" โพสต์เฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์มากกว่า 250 ครั้ง โดยแชร์รูปภาพที่แสดงให้เห็นประชาชนต่อแถวอยู่หน้าธนาคาร ธ.ก.ส. ในตำบลดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่

ในภาพยังมีข้อความที่ระบุว่า "แห่ถอนเงิน" อยู่ด้วย

ในวันเดียวกัน ยังพบโพสต์เฟซบุ๊กอีกโพสต์ ซึ่งถูกแชร์กว่า 320 ครั้ง โดยโพสต์ดังกล่าวแชร์คำกล่าวอ้างในลักษณะเดียวกัน รวมถึงภาพคนกำลังต่อแถวที่สาขาของธนาคารธ.ก.ส.ในตำบลสบปราบ จังหวัดลำปาง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์ภาพเก่าพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ

คำกล่าวอ้างนี้ปรากฏขึ้นหลังนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน นำทีมแถลงว่า รัฐบาลจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณของ ธ.ก.ส. ที่ดำเนินการโดยรัฐจำนวน 1.7 แสนล้านบาท (4.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อนำไปใช้สนับสนุนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจ

โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นหนึ่งในนโนยายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลประกาศว่าจะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท (275 เหรียญสหรัฐ) ให้กับประชาชนจำนวน 50 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในไตรมาส 4 ของปี 2567

เมื่อนายกฯ เศรษฐาถูกนักข่าวถามเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างว่าประชาชนแห่ถอนเงิน เขาได้ปฏิเสธว่าไม่ได้มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น (ลิงก์บันทึก)

ภาพและพร้อมคำกล่าวอ้างดังกล่าวยังปรากฏในโพสต์อื่นๆ ในช่องทางต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก  ยูทูบ และติ๊กตอก

ผู้ใช้งานบางรายแสดงความคิดเห็นที่ชี้ว่าพวกเขาเชื่อว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นความจริง

"ใครจะไปเชื่อถือเงินดิจิตอล ใครจะโง่ฝากเงินไว้กับธนาคารนี้..ตัวอย่างให้เห็น ถอนดีกว่า" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งเขียนแสดงความคิดเห็น

"ถอนให้หมด เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงรับรองเงินหายวับ" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอีกรายระบุ

หลังโพสต์เท็จเหล่านี้แพร่กระจายในสื่อสังคมออนไลน์ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของไทย กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 18 เมษายนว่า "ไม่มีเหตุการณ์" เช่นนี้เกิดขึ้น

ภาพเก่าถูกนำมาบิดเบือน

AFP ได้ใช้ค้นหารูปภาพแบบย้อนหลังในกูเกิล และพบว่าทั้งสองภาพถูกเผยแพร่เมื่อหลายปีก่อน

ภาพแรกถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ซึ่งรายงานเกี่ยวกับโครงการที่รัฐบาลแจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์ภาพดังกล่าวพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) กับภาพที่ปรากฏอยู่ในบทความของผู้จัดการออนไลน์ในปี 2559 (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์ภาพดังกล่าวพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) กับภาพที่ปรากฏอยู่ในบทความของผู้จัดการออนไลน์ในปี 2559 (ขวา)

ส่วนภาพที่สองนั้น AFP พบว่าก็เป็นภาพที่ปรากฏอยู่ในบทความข่าวจากเว็บไซต์เดียวกัน ซึ่งถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 (ลิงก์บันทึก)

บทความดังกล่าวระบุว่า ประชาชนเข้าแถวถอนเงินเยียวยาที่รัฐบาลแจกจ่ายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและการแพร่ระบาดของโควิด-19

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์ภาพดังกล่าวพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพที่ปรากฏอยู่ในบทความของผู้จัดการออนไลน์ในปี 2563 (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์ภาพดังกล่าวพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพที่ปรากฏอยู่ในบทความของผู้จัดการออนไลน์ในปี 2563 (ขวา)

ตัวแทนของธ.ก.ส. จากทั้งสองสาขาที่ปรากฏในภาพ กล่าวยืนยันกับ AFP ว่า ไม่มีการแห่ถอนเงินที่ธนาคารหลังมีรัฐบาลแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแต่อย่างใด

คำกล่าวอ้างเท็จ

ตำรวจในพื้นที่ยังระบุกับ AFP เมื่อวันที่ 17 เมษายนด้วยว่า "เราไม่ได้รับรายงานใดๆ ที่แจ้งว่ามีการแห่ถอนเงินในพื้นที่"

แถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 เมษายน ทางเพจเฟซบุ๊กของธ.ก.ส. ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว (ลิงก์บันทึก)

แถลงการณ์ระบุว่า "ธ.ก.ส. ยังคงสามารถบริหารสภาพคล่องและความแข็งแรง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสถาบันการเงิน"

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา