วิดีโอเศรษฐีดูไบใช้เรือยางขนย้ายรถยนต์หนีน้ำท่วมเป็นวิดีโอตัดต่อ

วิดีโอรถยนต์หรูแล่นฝ่าน้ำท่วมด้วยเรือยางได้ถูกนำมาแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า เป็นวิธีรักษารถราคาแพงของมหาเศรษฐีในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังนครดูไบเผชิญพายุหนักที่ทำให้น้ำท่วมสูงเป็นประวัติการณ์ AFP พบว่าวิดีโอต้นฉบับถูกเผยแพร่โดยบัญชีผู้ใช้งานของบริษัทผลิตสื่อที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์หรือ CGI (computer-generated imagery)

"ดูไบ นี่คือวิธีเศรษฐีดูไบปกป้องรถหรูจากน้ำท่วม" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งโพสต์วิดีโอพร้อมคำบรรยายในวันที่ 19 เมษายน 2567

วิดีโอความยาว 6 วินาทีในโพสต์ดังกล่าวแสดงภาพรถยนต์หรูหลายคันกำลังถูกขนย้ายด้วยเรือยางที่ปรากฏคำว่า "g-rescue" และ "emergency car boat" (เรือกู้ภัย) ท่ามกลางถนนที่มีสภาพน้ำท่วมขัง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์วิดีโอในบริบทที่เป็นเท็จ

วิดีโอนี้ยังถูกแชร์พร้อมกับคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะคล้ายกันในสื่อสังคมออนไลน์เป็นภาษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ที่นี่ และ นี่ ภาษาฮีลีไกโนน ภาษาจีน ภาษากรีก และภาษาอังกฤษ ที่นี่ และ นี่ 

วิดีโอเดียวกันที่ถูกแชร์บน X มียอดผู้เข้าชมมากกว่า 7.4 ล้านครั้ง

ขณะที่ผู้ใช้สื่อบางคนแสดงความคิดเห็นว่าคลิปดังกล่าวเป็นวิดีโอที่ถูกตัดต่อหรือสร้างจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) บางส่วนเชื่อนี่เป็นเหตุการณ์จริงในดูไบ

"สุดยอดเลย คนบังคับเรือยางอยู่ตรงไหนหรือบังคับจากในรถ" ความคิดเห็นหนึ่งระบุ

"คนรวยเค้าไม่เดือดร้อนเลย" อีกความคิดเห็นปรากฏในโพสต์เดียวกัน

คำกล่าวเท็จนี้ถูกแชร์บนโลกออนไลน์หลังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เผชิญฝนตกหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 75 ปี ในเดือนเมษายน 2567 จนทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้การจราจรทั้งทางอากาศและบนท้องถนนต้องหยุดชะงัก

ประชาชนบางคนต้องทิ้งรถไว้บนถนนที่มีน้ำท่วมสูงและอพยพไปยังบริเวณอื่นเพื่อความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม วิดีโอนี้เป็นวิดีโอที่ถูกตัดต่อ AFP ไม่พบรายงานที่น่าเชื่อถือว่ามีการใช้เรือยางในการขนย้ายรถยนต์บนท้องถนนที่ถูกน้ำท่วมในดูไบ

การสร้างเทคนิคพิเศษทางภาพ

วิดีโอเท็จที่ถูกแชร์ในบางโพสต์ระบุว่าวิดีโอต้นฉบับเป็นของบัญชีผู้ใช้งานชื่อ "Vertex CGI" จากการนำชื่อเฉพาะนี้ไปค้นหาคำสำคัญบนกูเกิลพบว่าวิดีโอนี้ถูกโพสต์เป็นครั้งแรกบนบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ของผู้ใช้งานดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ติ๊กตอก และ X

วิดีโอเดียวกันนี้ถูกแชร์ในโพสต์ต่าง ๆ พร้อมคำบรรยายที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เทคโนโลยีหรูสู้ภัยน้ำท่วมของดูไบ #ดูไบ #ยูเออี #รถยนต์ #บูกัตติ #เมอร์เซเดส #ลัมโบร์กีนี”

แม้ว่าจะไม่มีการระบุโดยตรงในโพสต์เป็นวิดีโอตัดต่อ แต่บัญชีลิงก์อินของ Vertex CGI ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสื่อที่ตั้งอยู่ในดูไบ ระบุว่าพวกเขา "ผลิตวิดีโอที่ใช้เทคนิคการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์" สำหรับการใช้งานในเชิงพาณิชย์ (ลิงก์บันทึก)

จากการสังเกตองค์ประกอบต่าง ๆ ในวิดีโอ เรือยางที่ใช้ในการขนย้ายรถยนต์และห่วงยางนกฟลามิงโกได้ถูกตัดต่อเพิ่มเข้ามาในวิดีโอต้นฉบับที่แสดงภาพรถยนต์กำลังวิ่งฝ่าน้ำท่วม

นอกจากนี้ ยังปรากฏจุดที่มีลักษณะผิดปกติอื่น ๆ ไก้แก่ รถยนต์หรูไร้ทะเบียนรถ ไม่มีรอยกระเพื่อมของน้ำรอบ ๆ ห่วงยางนกฟลามิงโก และพื้นผิวของรถยนต์ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างมีความแตกต่างกับพื้นผิวรถยนต์ของจริง

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอต้นฉบับที่ AFP ได้ทำเครื่องหมายเน้นให้เห็นองค์ประกอบภาพที่มีลักษณะผิดปกติหลายจุด:

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอต้นฉบับที่ AFP ได้ทำเครื่องหมายเน้นให้เห็นองค์ประกอบภาพที่มีลักษณะผิดปกติหลายจุด

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอที่ถูกแชร์ในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอต้นฉบับซึ่งถูกตัดต่อมาแล้ว (ขวา):

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอที่ถูกแชร์ในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอต้นฉบับซึ่งถูกตัดต่อมาแล้ว (ขวา)

Vertex CGI ได้โพสต์วิดีโออื่น ๆ ซึ่งใช้เทคนิคพิเศษแบบเดียวกันบนบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของตัวเอง และมีการอธิบายขั้นตอนการบันทึกวิดีโอสำหรับใช้เป็นฉากหลัง ก่อนที่จะตัดต่อภาพที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์เข้าไปในวิดีโอต้นฉบับ (ลิงก์บันทึก

สามารถอ่านรายงานการตรวจสอบข้อมูลเท็จอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุน้ำท่วมดูไบในเดือนเมษายน 2567 ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา