วิดีโอเครื่องยิงจรวดในช่วงความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนในปี 2557 ถูกแชร์ว่าเป็นวิดีโออิสราเอลโจมตีอิหร่าน

การโต้ตอบอย่างดุเดือดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านในเดือนเมษายน 2567 ส่งผลให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดอย่างหนัก ในขณะที่คลิปวิดีโอหนึ่งถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างว่า เป็นวิดีโอจากเหตุการณ์ที่อิหร่านยิงขีปนาวุธและโดรนหลายร้อยลูกใส่อิสราเอลเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2557 เกี่ยวกับการรุกรานยูเครนของรัสเซียในขณะนั้น นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารยังปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว โดยระบุว่าจรวดส่วนใหญ่ในวิดีโอน่าจะเป็นของรัสเซียที่มีพิสัยการยิงที่จำกัด

"อิหร่าน ปล่อยโดรนโจมตีฉลองสงกรานต์ที่อิสราเอล...." โพสต์ X เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 และแชร์วิดีโอฉบับหนึ่ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คลิปวิดีโอความยาว 30 วินาทีแสดงจรวดหลายลูกพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างรวดเร็วในตอนกลางคืน

คำกล่าวอ้างนี้ยังแพร่กระจายในภาษาไทยในโพสต์อื่นๆ เช่น ที่นี่  นี่ และ นี่ และภาษาอังกฤษที่นี่

จุดเดือด

ผู้นำโลกได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นหลังอิสราเอลยิงขีปนาวุธโจมตีอิหร่านเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 (ลิงก์บันทึก) ซึ่งเป็นการโจมตีตอบโต้อิหร่านที่เปิดฉากโจมตีอิสราเอลในวันที่ 13 เมษายน 2567 ด้วยจรวดมิสไซล์ โดรน และขีปนาวุธร่อน

สถานการณ์ความตึงเครียดดังกล่าวขยายวงกว้างออกมาจากความขัดแย้งในฉนวนกาซาที่อิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสยังคงทำสงครามกันอยู่

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสปะทุขึ้นเมื่อกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 เหตุการณ์ดังกล่าวคร่าชีวิตผู้คนไปราว 1,170 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ทางการของอิสราเอลระบุ

อิสราเอลได้ปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ และคร่าชีวิตผู้คนในฉนวนกาซาไปอย่างน้อย 34,305 ราย โดยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในฉนวนกาซา (ลิงก์บันทึก)

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ ได้เตือนว่า การโจมตีของกองทัพอิสราเอลในฉนวนกาซานั้นได้สร้าง "นรกที่ไร้มนุษยธรรม" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสามารถนำตะวันออกกลางเข้าสู่สงครามในระดับที่กว้างกว่านี้ได้ (ลิงก์บันทึก

หลังอิหร่านโจมตีอิสราเอล ประเทศตะวันตกหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรโครงการพัฒนาขีปนาวุธและโดรนของอิหร่าน (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม วิดีโอที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์นั้นไม่ได้แสดงขีปนาวุธและโดรนที่อิหร่านใช้โจมตีอิสราเอล

วิดีโอเก่า

ทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ได้ใช้เครื่องมือ InVID-WeVerify เพื่อค้นหาภาพย้อนหลัง

ผลลัพธ์จากการค้นหานำไปสู่วิดีโอฉบับหนึ่ง ที่ถูกแชร์ในปี 2557 ในสื่อสังคมออนไลน์ของรัสเซียชื่อ VK (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายระบุว่า วิดีโอบันทึกการสู้รบกันระหว่างรัสเซียและยูเครนในเมืองโดเนตสค์

ในขณะนั้น กลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนรัสเซียในเมืองโดเนตสค์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของยูเครน ได้เปิดฉากโจมตีใส่กองทัพของยูเครนอยู่หลายครั้ง หนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น กลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้ยึดอาคารรัฐบาลประจำภูมิภาคในเมืองโดเนตสค์และประกาศให้ภูมิภาคดังกล่าวแยกตัวเป็นอิสระ (ลิงก์บันทึก)

นอกจากนี้ ในคลิปวิดีโอยังสังเกตเห็นโลโก้ที่มุมขวาบน ซึ่งระบุว่า "Action Tube"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอใน VK

การค้นหาเพิ่มเติม ยังพบผู้ใช้งาน X บัญชีหนึ่งชื่อ "Conflict News" แชร์ภาพถ่ายหน้าจอจากวิดีโอฉบับเดียวกันนี้เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 (ลิงก์บันทึก)

โพสต์ดังกล่าวเขียนคำบรรยาย ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "การโจมตีครั้งใหญ่ต่อฐานทัพอากาศ #NAF ในภาคตะวันออกของ #ยูเครน" โดยตรงกลางภาพถ่ายหน้าจอ ยังสามารถสังเกตเห็นลายน้ำ "Action Tube" ได้เช่นกัน

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X ของ Conflict News

การค้นหาด้วยคำสำคัญในยูทูป พบช่องที่มีชื่อว่า "Action Tube" ซึ่งได้แชร์วิดีโอจำนวนมากจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นครั้งแรกเมื่อสิบปีก่อน

วันที่ในวิดีโอเผยให้เห็นว่าช่องดังกล่าวได้หยุดเผยแพร่เนื้อหาไปตั้งแต่เก้าปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ยังพบคลิปเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ในช่วงวินาทีที่ 0.30 ในวิดีโอความยาว 1 นาทีฉบับหนึ่ง (ลิงก์บันทึก) ซึ่งถูกเผยแพร่ในช่องยูทูบชื่อ World Weapons เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560

คำบรรยายวิดีโอระบุว่า "เครื่องยิงจรวดของรัสเซียโจมตีในตอนกลางคืน ยิง!" และวิดีโอดังกล่าวมีโลโก้ "Action Tube" เช่นกัน

แม้ว่า AFP จะไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างละเอียดถึงสถานที่และเวลาที่คลิปดังกล่าวถูกบันทึก แต่สามารถยืนยันได้ว่าคลิปนี้ถูกเผยแพร่ก่อนความขัดแย้งครั้งล่าสุดในตะวันออกกลาง

'ระบบจรวดหลายลูก'

ซาเวียร์ ไทเทลแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารฝรั่งเศส ปฏิเสธว่าคลิปดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการโจมตีอิสราเอลของอิหร่าน

"จังหวะการยิงในคลิปไม่สอดคล้องกับขีปนาวุธและจรวดร่อนที่อิหร่านใช้ในการโจมตีอิสราเอลครั้งล่าสุด" ไทเทลแมนกล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567

ไทเทลแมนกล่าวว่า อาวุธเหล่านี้มีลักษณะคล้าย "จรวดทั่วไป" เช่น เครื่องยิงจรวดบีเอ็ม-21 ของรัสเซีย

"มันไม่สามารถยิงได้ไกลกว่า 40 กิโลเมตร" ไทเทลแมนกล่าวเสริม

อิหร่านและอิสราเอลอยู่ห่างกันประมาณ 1,724 กิโลเมตร

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา