นี่เป็นวิดีโอขีปนาวุธที่ยูเครนใช้โจมตีไครเมีย ไม่ใช่ขีปนาวุธที่อิหร่านใช้โจมตีอิสราเอล

ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จากทั่วโลกได้แชร์วิดีโอจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธของยูเครนในคาบสมุทรไครเมีย พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นกองทัพอิหร่านโจมตีอิสราเอลในเดือนเมษายน 2567 ที่จริงแล้ว วิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 ในรายงานเกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศของยูเครนในเมืองเซวาสโตโพล ซึ่งตั้งอยู่ในคาบสมุทรไครเมียที่ถูกรัสเซียยึดครอง

เมื่อวันที่ 14 เมษายน โพสต์ติ๊กตอกบัญชีหนึ่งได้แชร์คลิปที่ฝังข้อความว่า "อิสราเอลโดนโจมตีเมื่อเวลาตี 4 ของประเทศไทย อิสราเอลสกัดได้ไม่หมด ทำให้มีบางลูกร่วงใส่บ้านเรือนประชาชน"

คลิปดังกล่าวเผยให้เห็นเหตุระเบิดในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งมียอดผู้ชมมากกว่า 35,700 ครั้งและได้รับการกดถูกใจมากกว่า 740 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ติ๊กตอกที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

วิดีโอและคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันนี้ยังถูกแชร์โดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยเช่น ที่นี่ และ นี่ ในอินโดนีเซียที่นี่ ในปากีสถานที่นี่ และในไนจีเรียที่นี่

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ไม่กี่วันหลังอิสราเอลเปิดฉากโจมตีอาคารสถานกงสุลของสถานทูตอิหร่านในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 ราย และอิสราเอลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ต่อมา เมื่อวันที่ 13 เมษายน อิหร่านตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธและโดรนหลายร้อยลูกใส่อิสราเอล ถือเป็นครั้งแรกที่อิหร่านจู่โจมอิสราเอล กองทัพอิสราเอลรายงานว่า การโจมตีครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 12 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้นในตะวันออกกลางจากช่วงหกเดือนที่ผ่านมาที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ เหตุการณ์ในวิดีโอดังกล่าวแสดงขีปนาวุธของยูเครนที่ใช้โจมตีเมืองเซวาสโตโพล ในคาบสมุทรไครเมียที่ถูกรัสเซียยึดครอง

การโจมตีด้วยขีปนาวุธในไครเมีย

การค้นหาภาพแบบย้อนหลัง พบคลิปวิดีโอเดียวกันที่ยาวกว่าถูกเผยแพร่ไว้ในช่องยูทูบทางการของ The Telegraph หนังสือพิมพ์ของอังกฤษเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 (ลิงก์บันทึก)

วิดีโอของ The Telegraph มีความยาว 1 นาที 14 วินาที และเขียนคำบรรยายที่แปลเป็นภาษาไทยว่า "ระเบิดครั้งใหญ่ในเมืองเซวาสโตโพลหลังยูเครนโจมตีด้วยขีปนาวุธ"

ในช่วงนาทีที่ 0:24 ของวิดีโอ มีเสียงคนพูดภาษารัสเซีย ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า "ตรงกลาง ระเบิดหล่นตรงกลาง"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และวิดีโอจาก The Telegraph (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และวิดีโอจากสำนักข่าว The Telegraph (ขวา)

วิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ในรายงานเกี่ยวกับการโจมตีของยูเครนในเมืองเซวาสโตโพล ซึ่งเผยแพร่โดยสถานีโทรทัศน์ ITN's On Demand News ในสหราชอาณาจักรในวันเดียวกัน (ลิงก์บันทึก)

รายงานของ AFP ระบุว่า รัสเซียกล่าวว่าสามารถสกัดขีปนาวุธของยูเครนที่ยิงใส่เมืองเซวาสโตโพล ในคาบสมุทรไครเมีย ที่ถูกรัสเซียยึดครองในปี 2557 ต่อมา ยูเครนระบุว่าได้โจมตีเรือรบรัสเซียขนาดใหญ่ 2 ลำและโครงสร้างพื้นฐานหลายแห่งที่กองทัพเรือรัสเซียในทะเลดำใช้เพื่อโจมตีไครเมีย

ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์

AFP สังเกตเห็นอาคารหลังหนึ่งที่มีลักษณะโดดเด่น ปรากฏอยู่ในช่วงวินาทีที่ 4 ของวิดีโอในโพสต์เท็จ และวินาทีที่ 41 ในวิดีโอที่เผยแพร่โดย The Telegraph 

อาคารดังกล่าวมีลักษณะที่ตรงกับอาคารตรงหัวมุมถนน Kulikovo Pole และถนน Generala Ostrovskaya ในเมืองเซวาสโทโพล ซึ่งสามารถดูภาพระดับถนนได้ในแผนที่ Yandex ของรัสเซีย (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้ายบน) วิดีโอที่เผยแพร่โดย The Telegraph (ขวาบน) และภาพระดับถนนจาก Yandex Maps (ล่าง) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่สอดคล้องกัน:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอในโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้ายบน) วิดีโอที่เผยแพร่โดย The Telegraph (ขวาบน) และภาพระดับถนนจาก Yandex Maps (ล่าง) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่สอดคล้องกัน

ขณะเดียวกัน อาคารอื่น ๆ ที่เห็นในช่วงวินาทีที่ 24 ของวิดีโอที่เผยแพร่โดย The Telegraph นั้นก็สอดคล้องกับภาพของถนน Mykoly Muzyky ในเมืองเซวาสโตโพล ซึ่งสามารถดูได้จาก Yandex Maps (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอที่เผยแพร่โดย The Telegraph (ซ้าย) และภาพจาก Yandex Maps (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่สอดคล้องกัน:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอที่เผยแพร่โดย The Telegraph (ซ้าย) และภาพจาก Yandex Maps (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่สอดคล้องกัน

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา