วิดีโอเก่าถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพ 'ผู้ลี้ภัยออกจากราฟาห์' ในเดือนพฤษภาคม 2567

  • เผยแพร่ วัน 10 พฤษภาคม 2024 เวลา 11:28
  • อัพเดตแล้ว วัน 10 พฤษภาคม 2024 เวลา 11:38
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
ในเดือนพฤษภาคม 2567 ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์คลิปวิดีโอฉบับหนึ่งพร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพ "ผู้ลี้ภัยเดินทางออกจากเมืองราฟาห์" ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา โพสต์เหล่านี้ถูกแชร์หลังกองทัพอิสราเอลสั่งให้ประชาชนอพยพออกจากราฟาห์ ก่อนที่กองทัพจะปฏิบัติการโจมตีภาคพื้นดินในเมืองดังกล่าว อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวแสดงเหตุการณ์จากเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นการต่อสู้ในตอนเหนือของฉนวนกาซาทวีความรุนแรงมากขึ้น

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 โพสต์เฟซบุ๊กโพสต์หนึ่งแชร์วิดีโอที่แสดงให้เห็นคนนับหลายร้อยเดินอยู่บนถนน

โพสต์ดังกล่าวเขียนคำบรรยายเป็นภาษาไทยว่า "06/05/2024 ผู้อพยพไปที่ไหนสักแห่ง ผู้ลี้ภัยออกจากราฟาห์ก่อนเริ่มปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

วิดีโอเดียวกันนี้ถูกแชร์พร้อมกับคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันในโพสต์เฟซบุ๊กภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และในโพสต์ X ภาษาอังกฤษที่นี่ และ นี่

คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์อย่างแพร่หลายหลังกองทัพอิสราเอลประกาศให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองราฟาห์ด้านตะวันออกอพยพไปยัง "พื้นที่ด้านมนุษยธรรมที่ขยายออกไป" ในดินแดนปาเลสไตน์ ก่อนจะเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในทางตอนใต้ของฉนวนกาซา

ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงผู้สนับสนุนชาวอิสราเอลคนสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเรียกร้องให้อิสราเอลเลิกขยายการโจมตีไปยังเมืองราฟาห์ โดยให้เหตุผลว่าอาจส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเสียชีวิต

สงครามในฉนวนกาซาที่นองเลือดมากที่สุดครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อกองกำลังติดอาวุธฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,170 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ตามรายงานของ AFP ที่อ้างอิงตัวเลขอย่างเป็นทางการของอิสราเอล

อิสราเอลให้คำมั่นว่าจะกำจัดกลุ่มฮามาส และปฏิบัติการตอบโต้ที่คร่าชีวิตผู้คนในฉนวนกาซาไปแล้วกว่า 34,800 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก กระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยกลุ่มฮามาสระบุ

อย่างไรก็ตาม วิดีโอที่ปรากฏในโพสต์เท็จดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นชาวปาเลสไตน์กำลังอพยพออกจากราฟาห์ในเดือนพฤษภาคม 2567

วิดีโอเก่า

เมื่อค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลโดยใช้คีย์เฟรมจากวิดีโอ AFP พบคลิปเดียวกันนี้ในโพสต์อินสตาแกรมที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 (ลิงก์บันทึก)

"ชาวกาซาเดินทางจากตอนเหนือลงไปตอนใต้ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 พวกเขาจากไปและไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย" โพสต์ดังกล่าวระบุคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับ

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เท็จ (ซ้าย) และโพสต์ในอินสตาแกรม (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เท็จ (ซ้าย) และโพสต์ในอินสตาแกรม (ขวา)

AFP รายงานว่า ชาวปาเลสไตน์จำนวนหลายหมื่นคนอพยพหนีการต่อสู้และการทิ้งระเบิดในทางตอนเหนือของฉนวนกาซา ในขณะที่อิสราเอลแถลงว่ากำลังกระชับพื้นที่เพื่อ "ไล่ต้อน" กลุ่มฮามาสให้จนมุม

นอกจากนี้ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 AFP ยังได้บันทึกภาพและวิดีโอของเหตุการณ์ดังกล่าวที่ผู้คนอพยพออกจากตอนเหนือและพื้นที่อื่น ๆ ในฉนวนกาซาด้วย (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ถ่ายโดย AFP (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่สอดคล้องกัน:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ถ่ายโดย AFP (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่สอดคล้องกัน

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ก่อให้เกิดกระแสข้อมูลเท็จ ซึ่ง AFP ได้ตรวจสอบและเขียนรายงานไว้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา