นักโภชนาการปฏิเสธคำกล่าวอ้างว่าผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีน้ำตาลมากกว่า 20 เปอร์เซนต์

  • เผยแพร่ วัน 21 พฤษภาคม 2024 เวลา 08:57
  • อัพเดตแล้ว วัน 21 พฤษภาคม 2024 เวลา 10:50
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Pasika KHERNAMNUOY, AFP ประเทศไทย
นักโภชนาการแนะนำว่าการรับประทานผลไม้ชนิดต่าง ๆ ในปริมาณที่เหมาะสมนั้นดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งตรงข้ามกับโพสต์เท็จบนเฟซบุ๊กที่เตือนว่าควรหลีกเลี่ยงกล้วยตากและทุเรียนเนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลมากกว่า 20 เปอร์เซนต์ นอกจากนี้ โพสต์ดังกล่าวยังแสดงตัวเลขปริมาณน้ำตาลในผลไม้ชนิดต่าง ๆ ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากข้อมูลที่เชื่อถือได้ของกรมอนามัย

"ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยงผักและผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลเกินกว่า 20 เปอร์เซนต์" เพจเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความและรูปภาพเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ซึ่งถูกแชร์มากกว่า 14,000 ครั้ง 

โพสต์ดังกล่าวแสดงปริมาณน้ำตาลของผลไม้หลายสิบรายการ โดยมีกล้วยตากที่อ้างว่ามีปริมาณน้ำตาล 64.1 เปอร์เซนต์ขึ้นเป็นอันดับแรก ตามด้วยทุเรียนที่มีน้ำตาล 34.7 เปอร์เซนต์ และแตงโมที่มีน้ำตาล 4.9 เปอร์เซนต์เป็นอันดับสุดท้าย

ส่วนหนึ่งของโพสต์ยังระบุอีกว่า "ไม่น่าเชื่อว่าน้ำตาลในกล้วยตากจะมากกว่าทุเรียนเกือบเท่าตัว"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันนี้ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์มาเป็นเวลาหลายปี และถูกแชร์อย่างกว้างขวางอีกครั้งในเดือนเมษายน 2567 ที่นี่  นี่ และ นี่

'ผลไม้ทุกชนิดกินได้ในปริมาณที่เหมาะสม'

ภัทราพร เทวอักษร นักโภชนาการชำนาญการพิเศษ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย บอกว่า คำกล่าวอ้างที่ว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยงผักและผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลเกินกว่า 20 เปอร์เซนต์นั้นขาดแหล่งที่มาของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

"ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกกินอาหารที่มีรสชาติไม่หวานจัด แต่ก็ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นด้วย อย่างเช่น ปริมาณและชนิดของแป้ง ไขมัน และใยอาหาร" ภัทราพรกล่าว

ผศ.ดร. สุวิมล ทรัพย์วโรบล รองคณบดีฯ ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า ไม่เคยมีการกำหนดปริมาณของน้ำตาลอย่างชัดเจนที่ 20 เปอร์เซนต์ ตามคำกล่าวอ้างแต่อย่างใด

"หลักการง่าย ๆ สำหรับทุกคนรวมถึงผู้ป่วยเบาหวาน คือ อย่าหวานจัดและอย่าเยอะเกิน"

นอกจากนี้ ผศ.ดร. สุวิมล ยังย้ำว่า ผลไม้ไม่ได้มีแค่น้ำตาล แต่อุดมไปด้วยน้ำ ใยอาหาร วิตามิน และเกลือแร่ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ตัวเลขที่คาดเคลื่อน

ภัทราพรให้ข้อมูลกับ AFP ว่า กล้วยตากมีน้ำตาล 23.7 เปอร์เซนต์ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ซึ่งห่างจากตัวเลข 64.1 เปอร์เซนต์ที่ระบุในโพสต์เท็จอย่างมาก

นอกจากนี้ ภัทราพรระบุต่อว่า ทุเรียนนั้นมีน้ำตาล 21.3 เปอร์เซนต์ ไม่ใช่ 34.7 เปอร์เซนต์ ส่วนแตงโมมีน้ำตาล 6-8 เปอร์เซนต์ ไม่ใช่ 4.9 เปอร์เซนต์ตามคำกล่าวอ้าง

ข้อมูลชุดเดียวกันนี้ปรากฏในรายงาน "ปริมาณน้ำตาลในผลไม้ไทย" ที่กรมอนามัยตีพิมพ์ไว้ในปี 2557 (ลิงก์บันทึก)

รายงานดังกล่าวระบุข้อมูลปริมาณน้ำตาลและข้อมูลทางโภชนาการอื่น ๆ ในผลไม้แยกตามสายพันธุ์ ส่วนตัวเลขที่ได้จากภัทราพรนั้นเป็นตัวเลขปริมาณน้ำตาลเฉลี่ยของผลไม้ชนิดนั้น ๆ

นอกจากนี้ ในปี 2561 ชัวร์ก่อนแชร์ รายการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ อสมท. ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเรื่องปริมาณน้ำตาลในผลไม้ไปแล้วก่อนหน้านี้ (ลิงก์บันทึก)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา