คลิปประธานาธิบดีอิหร่านนั่งเฮลิคอปเตอร์จากเดือนมกราคม 2567 ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็น 'ภาพสุดท้าย' ก่อนเขาเสียชีวิต

หลังประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี แห่งประเทศอิหร่าน และคณะผู้แทนเสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลกได้แชร์คลิปวิดีโอซึ่งเผยให้เห็นไรซีที่กำลังนั่งมองดูภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะจากบนเฮลิคอปเตอร์ พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็น "ภาพสุดท้าย" ก่อนเขาเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม คลิปดังกล่าวเป็นคลิปเก่าที่ปรากฏอยู่ในรายงานของสื่ออิหร่านตั้งแต่เดือนมกราคม 2567

"ภาพก่อนเสียชีวิต... ของประธานาธิบดีอิหร่าน ขณะอยู่บนเฮลิคอปเตอร์" โพสต์อินสตาแกรมเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567

โพสต์ดังกล่าวแชร์คลิปที่แสดงภาพประธานาธิบดีไรซีของอิหร่านบนเฮลิคอปเตอร์ เขากำลังมองภูเขาที่มีหิมะปกคลุมอยู่เบื้องล่างและพูดคุยกับชายอีกคนที่นั่งตรงกันข้าม

คลิปเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จคล้าย ๆ กันในภาษาไทยที่นี่ และในภาษาต่าง ๆ เช่น อังกฤษ จีน และ อาหรับ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

ไรซีถือเป็นผู้นำที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง โดยเขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอิหร่านตั้งแต่ปี 2564 ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศรวมถึงการชุมนุมในประเทศหลายครั้ง

สื่อของอิหร่านรายงานว่า เฮลิคอปเตอร์ของไรซีชนเข้ากับไหล่เขาท่ามกลางหมอกหนาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 ขณะเดินทางกลับจากการเปิดงานโครงการเขื่อนแห่งหนึ่งบริเวณใกล้กับชายแดนของประเทศอาเซอร์ไบจาน

ฮอสเซน อามีร์-อับดุลลาห์เฮียน รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านซึ่งมีแนวคิดต่อต้านอิสราเอลและกังขาชาติตะวันตก เป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

สมาชิกของกลุ่มที่เรียกว่า "อักษะแห่งการต่อต้าน" ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านเพื่อต่อต้านอิสราเอลและกลุ่มพันธมิตร แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์นี้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม

อย่างไรก็ตาม คลิปดังกล่าวไม่ใช่ภาพของประธานาธิบดีไรซีและคณะผู้แทนก่อนเฮลิคอปเตอร์ตก แต่เป็นคลิปก่อนเกิดเหตุเป็นเวลาอย่างน้อยสี่เดือน

คลิปเก่า

การค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิล โดยใช้คีย์เฟรมของวิดีโอ พบว่าคลิปดังกล่าวถูกแชร์ในโพสต์ X ของสำนักข่าวสาธารณรัฐอิสลาม (IRNA) ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2567 (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายภาษาเปอร์เซียในโพสต์ดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า "เช้านี้ ประธานาธิบดีบินมาเยือนเขื่อนเนมรุด ในเมืองเฟอรูโคห์"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์ X ของ IRNA เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายสีแดงเพื่อเน้นองค์ประกอบที่คล้ายกัน:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์ X ของ IRNA เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 (ขวา)

สำนักงานประชาสัมพันธ์ของพื้นที่ก่อสร้างคาทัม อัล-อันเบีย ได้เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ว่าประธานาธิบดีไรซี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและผู้ว่าการกรุงเตหะราน ได้เข้าเยี่ยมชมโครงการเขื่อนเนมรุด ซึ่งเป็นโครงการระดับชาติที่ตั้งอยู่ในเมืองเฟอรูโคห์ (ลิงก์บันทึก)

คลิปวันที่เฮลิคอปเตอร์ตก

การค้นหาในบัญชีเทเลแกรมของ IRNA พบอีกคลิปหนึ่งที่แสดงให้เห็นประธานาธิบดีอิหร่านนั่งอยู่ข้างในเฮลิคอปเตอร์ โดยคลิปดังกล่าวถูกแชร์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันที่มีรายงานว่าเขาเสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของคลิปที่ถูกแชร์ในเทเลแกรมของ IRNA

นอกจากไรซีแล้ว คลิปวิดีโอยังแสดงภาพชายอีกคนหนึ่ง โดย AFP ยืนยันว่าชายคนนี้คือฮอสเซน อามีร์-อับดุลลาเฮียน รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน ที่เสียชีวิตเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกในวันที่ 19 พฤษภาคมเช่นกัน

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปที่แชร์ในเทเลแกรมของ IRNA (ซ้าย) และภาพถ่ายทางการของฮอสเซน อามีร์-อับดุลลาเฮียน (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพหน้าจอระหว่างคลิปที่แชร์ในเทเลแกรมของ IRNA โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายวงกลมสีแดงที่ใบหน้าของฮอสเซน อามีร์-อับดุลลาเฮียน (ซ้าย) และภาพถ่ายอย่างเป็นทางการของฮอสเซน อามีร์-อับดุลลาเฮียน (ขวา)

นอกจากนี้ AFP ยังเผยแพร่ภาพถ่ายหน้าจอจากคลิปดังกล่าวโดยคำบรรยายระบุว่า ภาพดังกล่าวมาจากวิดีโอที่ถูกเผยแพร่โดยเครือข่ายโทรทัศน์ IRINN ของอิหร่านเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567

"[ภาพถ่ายหน้าจอ] แสดงให้เห็นประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี (ซ้าย) แห่งอิหร่าน พร้อมสมาชิกคณะผู้แทนที่ไม่ทราบชื่อ ขณะนั่งอยู่บนเฮลิคอปเตอร์เหนือภูมิภาคจอลฟา ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของอาเซอร์ไบจานตะวันออก" คำบรรยายภาพระบุ

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับกับเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 โดยสามารถอ่านรายงานภาษาไทยได้ที่นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา