รูปปั้นเทพเจ้าบาอัลถูกตัดต่อและอ้างว่าเป็นรูปปั้นของพระอัลเลาะห์ในวิหารกะบะห์

ในช่วงที่ชาวมุสลิมทั่วโลกกำลังเตรียมตัวเดินทางเพื่อแสวงบุญในพิธีฮัจญ์ ภาพของรูปปั้นเทพเจ้าบาอัลซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพัธพัณฑ์ในฝรั่งเศส ถูกนำมาตัดต่อและแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพของรูปปั้นพระอัลเลาะห์ในวิหารกะบะห์ อย่างไรก็ตาม ศาสนาอิสลามมีข้อห้ามไม่ให้กราบไหว้รูปเคารพอย่างเด็ดขาด และภาพ 360 องศาภายในกะบะห์ก็ไม่ปรากฏรูปปั้นตามคำกล่าวอ้างเท็จแต่อย่างใด

"Statue of Allah แปลว่า รูปปั้น "อัลลอฮ" ที่อยู่ภายในกะบะห์" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งโพสต์รูปภาพพร้อมคำบรรยายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2567

กะบะห์ คือ อาคารทรงลูกบาศก์คลุมผ้าดำแซมลายทองซึ่งตั้งอยู่ใจกลางมัสยิดอัลฮะรอมในนครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย กะบะห์ถือเป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมทุกคนจะหันหน้าไปทางทิศของกะบะห์เมื่อละหมาดไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม

โพสต์ดังกล่าวแสดงภาพของรูปปั้นที่มีเขาแหลมคล้ายพระจันทร์เสี้ยวและแขนขวาสองข้าง ตั้งอยู่บนแท่นวางระหว่างเสาไม้สองต้น

Image
ภาพภ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพในวันที่ 11 มิถุนายน 2567

ภาพตัดต่อนี้ถูกแชร์บนเฟสบุ๊กก่อนจะถึงช่วงแสวงบุญประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเสาหลัก 5 ประการ ตามหลักความเชื่อของศาสนาอิสลาม ในแต่ละปีจะมีชาวมุสลิมมากกว่า 1.8 ล้านคนเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศเพื่อประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้

รูปปั้นในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

อย่างไรก็ตาม ภาพที่ปรากฏในโพสต์เท็จไม่ใช่ภาพถ่ายจากภายในวิหารกะบะห์ แต่มีลักษณะคล้ายถูกตัดต่อมาจากภาพของรูปปั้นที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ประเทศฝรั่งเศส

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญบนกูเกิล พบภาพนี้ในบทความบนเว็บไซต์สารานุกรมประวัติศาสตร์โลก ซึ่งระบุว่าเป็นรูปปั้นของ "บาอัล" เทพเจ้าแห่งดินฟ้าอากาศและความอุดมสมบูรณ์ (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพภ่ายหน้าจอรูปของรูปปั้นเทพเจ้าบาอัล บันทึกภาพในวันที่ 11 มิถุนายน 2567

คำบรรยายภาพดังกล่าวระบุว่าเป็นภาพที่ถ่ายโดย "Jastrow" หรือช่างภาพชื่อ มารี-แลน เทย์ พามาร์ต (Marie-Lan Taÿ Pamart)

มารี-แลน เทย์ พามาร์ต ยืนยันกับ AFP ว่าเธอเป็นคนถ่ายภาพรูปปั้นเทพเจ้าบาอัลที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

เธอได้โพสต์รูปภาพนี้เป็นครั้งแรกบนเว็บไซต์ Wikimedia Commons ในปี 2549 (ลิงก์บันทึก)

ภาพของรูปปั้นเดียวกันปรากฏบนเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ซึ่งระบุว่าเป็นวัตถุโบราณที่ถูกค้นพบจากประเทศซีเรียในปี 2477 (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพตัดต่อในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับ (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่แตกต่างกัน:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพตัดต่อในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับ (ขวา)

นอกจากนี้ ภาพด้านในกะบะห์ยังแสดงให้เห็นว่าไม่มีรูปปั้นลักษณะดังกล่าวตั้งอยู่ในวิหารแต่อย่างใด

ภาพถ่ายมุมมอง 360 องศาบนเว็บไซต์อิสลามติกส์ (Islamtics) ซึ่งแสดงให้เห็นภายในกะบะห์โดยรอบ ปรากฏแท่นวางและเสาไม้เหมือนกับในภาพตัดต่อ แต่ไม่มีรูปปั้นบนแท่นวางตามที่กล่าวอ้างในโพสต์เท็จ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่เผยแพร่ภาพมุมมอง 360 องศาภายในกะบะห์ (FS)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพตัดต่อในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพมุมมอง 360 องศาของวิหารกะบะห์ในตำแหน่งเดียวกันแบบกลับด้าน (ขวา)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพตัดต่อในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพมุม 360 องศาของวิหารกะบะห์ในตำแหน่งเดียวกันแบบกลับด้าน (ขวา)

ศาสนาอิสลามมีข้อห้ามไม่ให้เคารพบูชารูปหรือรูปปั้นอย่างเด็ดขาด โดยจะสามารถกราบพระเจ้าหรือพระอัลเลาะห์ได้เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา