ภาพตัดต่อถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า 'เรือสหรัฐฯ ถูกกลุ่มกบฏฮูตีโจมตีจนได้รับความเสียหาย'

ภาพถ่ายดาวเทียมที่เผยให้เห็นเรือมีรูโหว่อยู่บนเรือถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเรือรบของสหรัฐฯ ถูกกลุ่มกบฏฮูตีโจมตีจนได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวถูกตัดต่อด้วยการนำภาพรูโหว่เพิ่มเข้าไปในภาพของเรือ ขณะเดียวกัน กองทัพสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธว่าไม่มีเรือที่ได้รับความเสียหายจากการโจมตีของกลุ่มดังกล่าว

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567 เพจเฟซบุ๊กชื่อ World Update แชร์ลิงก์และเขียนคำบรรยายภาษาไทยว่า "เรือบรรทุกเครื่องบินใคร? มีรูโหว่ขนาดใหญ่ที่หัวเรือ"

โพสต์ดังกล่าวแชร์โพสต์จากบล็อกดิทที่แสดงให้เห็นภาพจากดาวเทียม ซึ่งเผยให้เห็นท่าเรือแห่งหนึ่ง ก่อนที่คลิปจะซูมเข้าไปให้เห็นว่ามีรูโหว่ขนาดใหญ่อยู่ที่หัวเรือลำดังกล่าว

คำบรรยายใต้วิดีโอระบุว่า ".....สื่อจีนเผยภาพซูมมุมสูง ไปที่เรือบรรทุกเครื่องบินลำหนึ่งที่จอดท่าเรือเมืองท่าเจดดาห์ ซาอุดิอาระเบีย บริเวณลานจอดบนหัวเรือมีเลข 69 พบร่องรอยเสียหายสีดำขนาดใหญ่คล้ายโดนระเบิดรุนแรง บังเอิญว่า เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Eisenhower "หมายเลขรหัสเรือคือ CVN-69" สอดคล้องกับพิกัดครั้งสุดท้าย ที่เรือลำนี้อยู่ในทะเลแดง และติดต่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉินขอจอดเทียบท่าเรือเมืองเจดดาห์ และกองทัพฮูตี เยเมน แถลงว่าโจมตีเรือลำนี้ด้วยขีปนาวุธ 2 ครั้ง ห่างกันไม่ถึง 24 ชม. จากนั้นสัญญานติดตามเรือก็ถูกตัดหายไป"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่างอ้างเท็จ

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนกล่าวว่าได้ยิงขีปนาวุธโจมตีเรือยูเอสเอส ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวเวอร์ (USS Dwight D. Eisenhower) ในทะเลแดง ส่วนทางการสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมายืนยันว่าเรือลำดังกล่าวถูกโจมตีหรือไม่

กลุ่มกบฏฮูตีเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านและควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเยเมน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 กลุ่มดังกล่าวได้ยิงโดรนและขีปนาวุธโจมตีเรือในทะเลแดงและอ่าวเอเดนหลายครั้ง โดยระบุว่าเป็นการประกาศจุดยืนเคียงข้างชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา

ยาห์ยา ซารี โฆษกกองทัพฮูตี ระบุในแถลงการณ์ว่า การโจมตีเรือครั้งนี้เป็นการตอบโต้หลังเมืองท่าโฮเดดาห์ในประเทศเยเมนถูกโจมตี และส่งผลให้ชาวเยเมน 16 คนเสียชีวิต รวมถึงพลเมืองที่ไม่ทราบจำนวนด้วย

ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่กลุ่มฮูตีประกาศ นับว่าเป็นการโจมตีที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ตั้งแต่สหรัฐฯ และอังกฤษเริ่มปฏิบัติการตอบโต้การโจมตีเรือสินค้าในเดือนมกราคม 2566 AFP ไม่สามารถยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวได้อย่างอิสระ

คลิปเดียวกันนี้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างในลักษณะเดียวกันในโพสต์ภาษาอื่นด้วย เช่น ภาษาจีนที่นี่  นี่ และ นี่ และภาษาอังกฤษที่นี่

อย่างไรก็ตาม ทางการสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างว่าเรือยูเอสเอส ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวเวอร์ได้รับความเสียหายหรือถูกโจมตี รายงานจากซีบีเอสนิวส์และวอยซ์ออฟอเมริการะบุ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

ภาพตัดต่อ

AFP พบว่าภาพเรือที่ถูกเผยแพร่ดังกล่าวตรงกับภาพถ่ายดาวเทียมของกูเกิ้ลเอิร์ธเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ที่เผยให้เห็นสถานีทหารเรือนอร์ฟอล์ก รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองนาวิกโยธินที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือสหรัฐฯ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

ในภาพจากกูเกิ้ลเอิร์ธ ไม่พบรูโหว่บนหัวเรือแต่อย่างใด

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพจากกูเกิ้ลเอิร์ธ (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นส่วนที่มีการตัดต่อ:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพจากกูเกิ้ลเอิร์ธ (ขวา)

การค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิ้ลโดยใช้คีย์เฟรมจากวิดีโอ พบว่ารูโหว่ที่ปรากฏอยู่บนหัวเรือ ณ วินาทีที่ 13 ของคลิปนั้นสอดคล้องกับภาพที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์คลังภาพชัตเตอร์สต็อก (ลิงก์บันทึก)

ภาพรูโหว่ดังกล่าวถูกนำมาพลิกกลับในแนวนอน ก่อนจะถูกนำไปใส่ไว้ในภาพถ่ายจากดาวเทียมของกูเกิ้ลเอิร์ธ

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพหลุมที่ถูกอ้างว่าปรากฏอยู่บนเรือ (ซ้าย) และภาพจากชัตเตอร์สต็อกที่ถูกพลิกกลับในแนวนอน (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพหลุมที่ถูกอ้างว่าปรากฏอยู่บนเรือ (ซ้าย) และภาพจากชัตเตอร์สต็อกที่ถูกพลิกกลับในแนวนอน (ขวา)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล้าวอ้างเกี่ยวกับการโจมตีของกบฏฮูตีในทะเลแดงที่นี่  นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา