โพสต์เท็จแชร์ทฤษฎีสมคบคิดว่าบิล เกตส์ให้ทุนงานวิจัยเพื่อสร้างเชื้อไข้หวัดนกที่ระบาดสู่คน

ท่ามกลางความหวาดวิตกว่าไข้หวัดนกอาจกลายพันธุ์และแพร่เชื้อข้ามสายพันธุ์ โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์และบทความต่าง ๆ ได้แชร์ทฤษฎีสมคบคิดว่า มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ มอบทุนสนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัยวิสคอนซินเพื่อพัฒนาให้ไข้หวัดนกสามารถติดต่อสู่มนุษย์ได้ นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวอ้างว่าบิล เกตส์ตั้งใจทำให้เกิดโรคระบาดใหญ่ครั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างเหล่านี้เป็นเท็จ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญอิสระระบุว่า ในปี 2552 มีการให้ทุนสนับสนุนเพื่อศึกษาไข้หวัดนก ซึ่งแม้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่งานวิจัยดังกล่าวไม่ได้สร้างเชื้อไข้หวัดนกที่สามารถติดต่อสู่คนได้แต่อย่างใด

"เกตส์ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยซึ่งพยายามสร้างเชื้อไข้หวัดนกที่อันตรายและติดต่อได้มากขึ้น ซึ่งสามารถแพร่กระจายผ่านมนุษย์และปศุสัตว์ได้อย่างรวดเร็ว" โพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567

คำบรรยายระบุต่อว่า "นอกจากนี้ มูลนิธิ Bill & Melinda Gates ซึ่งเป็นองค์กรของผู้ก่อตั้งร่วม Microsoft กำลังทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี Joe Biden ของพรรคเดโมแครตเพื่อทำการวิจัยความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา หมายความว่าผู้เสียภาษีชาวอเมริกันก็ให้ทุนสนับสนุนการทดลองนี้เช่นกัน"

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพถ่ายหน้าจอของบทความบนเว็บไซต์สเลย์นิวส์ (Slay News) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ที่เขียนพาดหัวข่าวว่า "บิล เกตส์ให้ทุนงานวิจัยสร้างเชื้อไข้หวัดนกที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้" โดยเว็บไซต์ดังกล่าวปรากฏในรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากมักเผยแพร่คำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับบิล เกตส์ และประเด็นอื่น ๆ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คำกล่าวอ้างในลักษณะเดียวกันยังถูกแชร์ในโพสต์ภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และภาษาอังกฤษที่นี่  นี่ และ นี่  นอกจากนี้ บางบทความยังได้กล่าวหาว่างานวิจัยดังกล่าวเป็น "การก่อการร้ายทางชีวภาพ"

โพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างนี้แพร่กระจายในโลกออนไลน์ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดนกที่เพิ่มขึ้น โรคไข้หวัดนกเกิดจากไวรัสสายพันธุ์ H5N1 และสายพันธุ์ย่อย H5N2 ที่สามารถแพร่กระจายไปยังสัตว์ชนิดอื่น รวมถึงมนุษย์ได้

ไวรัสสายพันธุ์ H5N1 ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 2539 และตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ตัวเลขการระบาดในนกก็เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ และยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน (ลิงก์บันทึก)

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) รายงานว่า แม้เชื้อไวรัสสายพันธุ์ H5N1 จะแพร่ระบาดในฝูงโคนมในสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ แต่กรณีที่มนุษย์ติดเชื้อนั้นพบไม่บ่อยนัก (ลิงก์บันทึก)

ดีน บลัมเบิร์ก หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อในเด็กที่ศูนย์การแพทย์ยูซี เดวิส เฮลธ์ (UC Davis Health) กล่าวในบทสัมภาษณ์ว่า โอกาสที่ไข้หวัดนกจะแพร่จากคนสู่คนนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก และ "การติดเชื้อในมนุษย์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อมีการสัมผัสกับสัตว์ที่ป่วยหรือตาย โดยไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน" (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

คำกล่าวอ้างที่ว่ามีการพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการแพร่เชื้อของไข้หวัดนกนั้นไม่มีมูลความจริง ข่าวประชาสัมพันธ์ระบุว่า ทุนวิจัยที่มูลนิธิเกตส์มอบให้แก่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันในปี 2552 นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการศึกษาการกลายพันธุ์ของโรคไข้หวัดนกที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งเปรียบเสมือนระบบเตือนภัยล่วงหน้าหากเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพจากกล้องจุลทรรศน์ที่แสดงให้เห็นอนุภาคไข้หวัดนกสายพันธ์ A หรือ H5N1 (สีทอง) ที่ปลูกถ่ายในเซลล์ไตสุนัข ภาพจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) และสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NIAID) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567

โฆษกของมหาวิทยาลัยวิสคอนซินกล่าวว่า งานวิจัยในปี 2552 นั้นไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างไวรัสที่สามารถแพร่เชื้อสู่มนุษย์

"งานวิจัยนี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การทำให้โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ติดต่อไปสู่มนุษย์ แต่มุ่งทำความเข้าใจว่าโรคไข้หวัดนกที่แพร่กระจายในธรรมชาติอาจกลายพันธุ์และแพร่ระบาดในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้อย่างไรบ้าง" โฆษกกล่าวในอีเมลเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567

"งานวิจัยนี้อาจช่วยพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งหมายความว่านักวิทยาศาสตร์จะสามารถเฝ้าระวังการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางของไข้หวัดนกเพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ได้"

มูลนิธิเกตส์ระบุในอีเมลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ว่า คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับเงินทุนสนับสนุนงานวิจัยเพื่อสร้างไวรัสที่แพร่กระจายสู่มนุษย์ได้นั้นเป็น "เท็จ" โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

อ่านรายงานเพิ่มเติมของ AFP ที่ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพ ที่ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา