คลิปไฟไหม้ในสกอตแลนด์ถูกบิดเบือนว่าเป็นเหตุไฟไหม้โรงงานในเกาหลีใต้

คลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นกลุ่มควันขนาดใหญ่ใกล้ย่านที่อยู่อาศัยในสกอตแลนด์ถูกแชร์ในโลกออนไลน์ พร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นภาพจากเหตุการณ์ไฟไหม้ที่โรงงานแบตเตอรี่ในเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม AFP ได้ตรวจสอบและพบว่าคลิปดังกล่าวถูกบันทึกไว้ได้ในเมืองเรนฟริวไชร์ สกอตแลนด์

"เกาหลีใต้: เวลา 10.31 น. 24.6.2024 ไฟไหม้โรงงานแบตเตอรี่ เสีeชีวิต 16 ราย อีก 6 สูญหาย" โพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567

คำบรรยายระบุต่อว่า "ไฟไหม้ บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ อาริเซลล์ ในเมืองฮวาซอง เหตุเพลิงไหม้เริ่มต้นขึ้นหลังจากเซลล์แบตเตอรี่จำนวนหนึ่งระเบิดภายในโกดัง"

AFP รายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 23 รายจากเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมในเกาหลีใต้ โดยถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นภัยพิบัติทางโรงงานที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปีของประเทศ

วิดีโอในโพสต์ดังกล่าวประกอบไปด้วย 2 คลิป โดยคลิปแรกแสดงให้เห็นกลุ่มควันขนาดใหญ่ปรากฏอยู่หลังย่านที่อยู่อาศัย ส่วนอีกคลิปแสดงให้เห็นรถพยาบาลสีแดงอยู่บนถนนโดยมีเหตุระเบิดไฟไหม้อยู่ด้านหลัง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

วิดีโอดังกล่าว ยังมีลายน้ำที่เขียนว่า "World Forum" ซึ่งมาจากเพจเฟซบุ๊กที่เคยแชร์คำกล่าวอ้างเท็จในประเทศไทย

คลิปเดียวกันนี้ยังปรากฏพร้อมคำกล่าวอ้างเดียวกันในโพสต์เฟซบุ๊กภาษาไทยที่นี่  นี่ และ นี่

ภาพถ่ายหน้าจอของคลิปดังกล่าวยังปรากฏพร้อมกับคำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ในภาษาอื่น เช่น ภาษาอิตาลีที่นี่ ภาษาตุรกีที่นี่ และ นี่ และภาษาสเปนที่นี่ และ นี่

อย่างไรก็ตาม คลิปดังกล่าวแสดงให้เห็นเหตุไฟไหม้ในสกอตแลนด์

ไฟไหม้ในสกอตแลนด์

การค้นหาภาพย้อนหลังด้วยการใช้คีย์เฟรมของคลิปแรกในกูเกิ้ล พบวิดีโอเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่ไว้ในโพสต์ X เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 (ลิงก์บันทึก)

"เกิดเหตุระเบิดที่โรงงานเอ็นวาในเมืองลินวู้ด" คำบรรยายประกอบวิดีโอระบุ

บีบีซี (BBC) และกลาสโกว์ไทมส์ (Glasgow Times) รายงานว่า นิคมอุตสาหกรรมลินวู้ดในเพสลีย์ เมืองเรนฟริวไชร์ สกอตแลนด์ เกิดเหตุไฟลุกไหม้อย่างรุนแรงในช่วงกลางดึกของวันที่ 23 มิถุนายน 2567 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

เหตุเพลิงไหม้นี้เกิดขึ้นที่โรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ชื่อเอ็นวา (Enva) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมลินวู้ด ต่อมา เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน บริษัทเอ็นวาได้ออกแถลงการณ์เพื่อเสนอ "คำขอโทษอย่างจริงใจสำหรับความไม่สะดวกใด ๆ ที่เกิดจากเหตุการณ์ดังกล่าว" (ลิงก์บันทึก)

AFP สามารถระบุตำแหน่งของสถานที่ในคลิปวิดีโอได้ว่าตรงกับย่านที่อยู่อาศัยในริตชี่ พาร์ค (Ritchie Park) ซึ่งอยู่ห่างจากโรงงานของเอ็นวาที่ไฟไหม้เพียง 400 เมตร (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพจากแผนที่กูเกิลที่แสดงให้เห็นระยะทางระหว่างย่านที่อยู่อาศัยริตชี่ พาร์คกับโรงงานเอ็นวาที่เกิดเหตุไฟไหม้

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) กับภาพสตรีทวิวของย่านที่อยู่อาศัยในริตชี่ พาร์คปี 2564 ในกูเกิลเอิร์ธ (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่คล้ายกัน:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) กับภาพสตรีทวิวของย่านที่อยู่อาศัยในริตชี่ พาร์คปี 2564 ในกูเกิลเอิร์ธ (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่คล้ายกัน

คลิปเหตุการณ์จริงจากเกาหลีใต้

ส่วนคลิปที่สองนั้นเป็นคลิปจากเหตุไฟไหม้โรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมในเกาหลีใต้

การค้นหาภาพย้อนหลังและกาค้นหาด้วยคำสำคัญในกูเกิล พบคลิปที่คล้ายกันนี้ปรากฏอยู่ในโพสต์ X เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่เขียนคำบรรยายเป็นภาษาเกาหลีว่า "ไฟไหม้โรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมในเมืองฮวาซอง" (ลิงก์บันทึก)

สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia) ยังใช้คลิปเดียวกันนี้ในรายงานข่าวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X ของเรดิโอฟรีเอเชีย

"เหตุเพลิงไหม้ร้ายแรงเกิดขึ้นที่โรงงาน #แบตเตอรี่ลิเธียม ในเมืองฮวาซอง จังหวัดคยองกี เมื่อวันจันทร์ (24 มิถุนายน) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 22 ราย บาดเจ็บ 8 ราย สูญหาย 1 ราย" คำบรรยายในภาษาจีนระบุ

ต่อมา มีรายงานระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 23 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน

AFP สามารถระบุสถานที่ในคลิปโดยใช้แผนที่นาเวอร์ (Naver Map) และพบอาคารสองหลังที่มีลักษณะตรงกัน (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ (ซ้าย) และภาพสตรีทวิวของโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมในแผนที่นาเวอร์ (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่คล้ายกัน:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ (ซ้าย) และภาพสตรีทวิวของโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมในแผนที่นาเวอร์ (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่คล้ายกัน

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้โรงงานแบตเตอรี่ในเกาหลีใต้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา