คลิปนี้ไม่ได้แสดงเหตุการณ์ที่ 'โบสถ์ปารีสจุดคบเพลิงโอลิมปิก'

คลิปวิดีโอการจุดพลุในโบสถ์และในคอนเสิร์ตถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างว่า คลิปดังกล่าวแสดงให้เห็นการจุดคบเพลิงในโบสถ์ในกรุงปารีสก่อนเริ่มการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ในความเป็นจริงแล้ว ภาพดังกล่าวเป็นภาพของประเพณีทางศาสนาในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี และการแสดงดอกไม้ไฟระหว่างการแสดงของวงดนตรีสัญชาติเยอรมันชื่อ รัมสไตน์ (Rammstein) ในเมืองวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย

"โบสถ์ปารีสจุดคบเพลิงโอลิมปิก น่าทึ่งมาก!" โพสต์ติ๊กตอกเขียนคำบรรยายภาษาไทยเมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม 2567

วิดีโอความยาว 24 วินาที ในโพสต์ดังกล่าวประกอบไปด้วยคลิปวิดีโอจำนวนสองคลิป

คลิปแรกแสดงภาพของชายคนหนึ่งในเครื่องแต่งกายทางศาสนาที่กำลังจุดไฟจรวดรูปนกที่ร่อนไปตามทางเดิน ก่อนจะพุ่งออกไปทางประตูของอาคาร ส่วนคลิปที่สองนั้นแสดงภาพพลุและดอกไม้ไฟที่ถูกจุดและพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเหนือฝูงชน

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้าย ๆ กันในโพสต์ภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และในภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาจีน  อังกฤษ  สเปน และทมิฬ

โพสต์เหล่านี้ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในกรุงปารีส ซึ่งจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการด้วยการจุดคบเพลิงในวันที่ 26 กรกฎาคม 2567  (ลิงก์บันทึก)

คบเพลิงโอลิมปิกมีประวัติมาอย่างยาวนาน โดยเปลวไฟศักดิ์สิทธิ์นั้นถูกจะจุดขึ้นและลุกโชนตลอดการแข่งขัน

คบเพลิงโอลิมปิกเดินทางจากประเทศกรีซถึงฝรั่งเศสแล้วตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2567

หลังจากนั้น จะมีการวิ่งคบเพลิงเฉลิมฉลองผ่านเมืองต่าง ๆ ในฝรั่งเศสและอาณานิคมโพ้นทะเลของฝรั่งเศสเป็นระยะทางกว่า 12,000 กิโลเมตร (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม คบเพลิงนี้ยังเดินทางมาไม่ถึงกรุงปารีสจนกระทั่งวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 นอกจากนี้ คลิปดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกแต่อย่างใด

ประเพณีของชาวฟลอเรนซ์

เมื่อค้นหาภาพแบบย้อนหลังในกูเกิลโดยใช้คีย์เฟรมจากคลิปแรก พบวิดีโอเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ในโพสต์ติ๊กตอกของสถานีโทรทัศน์ฟิเรนเซ ทีวี (Firenze TV) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2566 ซึ่งแสดงให้เห็นประเพณีในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายวิดีโอในภาษาอิตาลีแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ปีนี้เป็นอีกปีที่โคลอมบินาช่างสมบูรณ์แบบ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่ง สุขสันต์วันอีสเตอร์"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของคลิปที่ปรากฏในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอในโพสต์ติ๊กตอกของ Firenze TV (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของคลิปที่ปรากฏในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอในโพสต์ติ๊กตอกของฟิเรนเซ ทีวี (ขวา)

เว็บไซต์การท่องเที่ยวของเมืองฟลอเรนซ์ระบุว่า การจุดไฟจรวดรูปนกพิราบ (หรือที่เรียกกันว่า "โคลอมบินา" ในคำบรรยาย) เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สงครามครูเสด โดยมีการจัดพิธีกรรมนี้ขึ้นทุกวันอีสเตอร์ที่โบสถ์ซานตามาเรีย เดล ฟิโอเร (ลิงก์บันทึก)

ประเพณีพื้นบ้านนี้เรียกว่า "การระเบิดเกวียน" (Scoppio del Carro) ซึ่งนกพิราบนั้นเป็นสัญลักษณ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่บินลงมาที่เกวียนที่ประดับไปด้วยดอกไม้ไฟ หากทุกอย่างราบรื่น เมืองฟลอเรนซ์จะมีความเจริญรุ่งเรือง เว็บไซต์ดังกล่าวระบุ

ภาพถ่ายของ AFP จากภายในโบสถ์เผยให้เห็นสถาปัตยกรรม หน้าต่างกระจกสี และออร์แกนที่มีลักษณะสอดคล้องกันกับคลิปที่ปรากฏในโพสต์เท็จ

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของคลิปที่ปรากฏในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพถ่ายของ AFP (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบสำคัญ:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของคลิปที่ปรากฏในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพถ่ายของ AFP (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบสำคัญ

คอนเสิร์ตวงรัมสไตน์

ส่วนคลิปที่สองนั้น AFP ได้ค้นหาภาพแบบย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญในกูเกิล และพบคลิปเดียวกันนี้ในโพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ซึ่งแสดงภาพจากคอนเสิร์ตของวงรัมสไตน์ (Rammstein) ซึ่งเป็นวงเมทัลสัญชาติเยอรมัน (ลิงก์บันทึก)

เว็บไซต์แฟนคลับขอวงรัมสไตน์ rammsteinworld.com ระบุว่า คลิปดังกล่าวถูกบันทึกไว้จากคอนเสิร์ตของวงในเมืองวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของคลิปที่ปรากฏในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่ปรากฏในโพสต์ติ๊กตอกในเดือนพฤษภาคม 2566 (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของคลิปที่ปรากฏในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่ปรากฏในโพสต์ติ๊กตอกในเดือนพฤษภาคม 2566 (ขวา)

ภาพที่ปรากฏในบัญชีเฟซบุ๊กของวงรัมสไตน์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ยังแสดงให้เห็นลักษณะของเวทีที่คล้ายกัน และยังสามารถสังเกตเห็นโลโก้ของวงรัมสไตน์ ซึ่งเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ของอักษร "R" และ "T" ได้อีกด้วย (ลิงก์บันทึก)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จที่เกี่ยวข้องกับโอลิมปิกเกมส์ปี 2024 ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา