วิดีโอจากการชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์ถูกบิดเบือนในช่วงการเลือกตั้งฝรั่งเศส
- เผยแพร่ วันที่ 12 กรกฎาคม 2024 เวลา 05:54
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
- เขียนโดย: Bill MCCARTHY, AFP สหรัฐอเมริกา, AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"การชุมนุมเฉลิมฉลองชัยชนะของรัฐบาลใหม่ในฝรั่งเศสมีธงปาเลสไตน์มากกว่าธงฝรั่งเศส" โพสต์ X เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567
โพสต์ดังกล่าวแชร์วิดีโอความยาวประมาณ 39 วินาทีที่แสดงให้เห็นผู้ชุมนุมจำนวนมากชูธงปาเลสไตน์
วิดีโอและคำกล่าวอ้างในลักษณะเดียวกันนี้ยังถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก เช่น ที่นี่ และ นี่ รวมไปถึงสำนักข่าวสกายนิวส์ ออสเตรเลีย และไมค์ ลี วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแชร์วิดีโอดังกล่าวทาง X โดยเขียนคำบรรยายว่า "RIP France" หรือ "สู่สุคติ ฝรั่งเศส"
หลายโพสต์ระบุว่าคลิปดังกล่าวแสดงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2567 หลังกลุ่มพันธมิตรฝ่ายซ้ายชื่อนิว ป๊อบปูลาร์ ฟรอนท์ (New Popular Front) ได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งฝรั่งเศสรอบที่สอง และสามารถเอาชนะพรรคฝ่ายขวาจัดอย่างพรรคเนชั่นแนลแรลลี (National Rally) ของมารีน เลอ เปน และพรรคนิยมสายกลางของแอมานูเอล มาครงได้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีกลุ่มใดครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้ฝรั่งเศสเกิดสภาวะรัฐสภาแขวน (Hung parliament) ซึ่งเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่อย่างมาก
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวฝรั่งเศสจำนวนมากกังวลว่าพรรคเนชั่นแนลแรลลีที่มีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพและกลุ่มสหภาพยุโรป จะมีบทบาทมากขึ้นจากการครองที่นั่งส่วนใหญ่ในรัฐสภา ประชาชนจำนวนหนึ่งได้ออกมารวมตัวกันในกรุงปารีสเพื่อเฉลิมฉลองที่พรรคฝ่ายซ้ายได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ผู้มีแนวคิดทางการเมืองฝ่ายขวาได้โจมตีฌ็อง-ลุก เมล็องชง ผู้นำของกลุ่มซ้ายจัดชื่อลาฟร็อง แซ็งซูมีซ (LFI) ที่มีจุดยืนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ ว่าเขามีแนวคิดต่อต้านชาวยิว
นับตั้งแต่การโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ส่งผลให้ภูมิภาคตะวันออกกลางตกอยู่ในความขัดแย้ง มีการประท้วงต่อต้านสงครามฉนวนกาซาในหลายประเทศทั่วทวีปยุโรป รวมถึงกรุงปารีสและเมืองอื่น ๆ ในฝรั่งเศส
ประชากรมุสลิมในประเทศฝรั่งเศสนับเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป โดยมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามราวหกล้านคน
แม้ว่าการชุมนุมในวันที่ 7 กรกฎาคม 2567 มีคนชูธงปาเลสไตน์ที่จัตุรัสสาธารณรัฐ (Place de la République) ในกรุงปารีสจริง แต่คลิปดังกล่าวที่เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์นี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของฝรั่งเศส
คลิปก่อนการเลือกตั้ง
เมื่อทำการค้นหาภาพแบบย้อนหลัง พบว่าผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ชื่อ บิสมุธ แบ็ก เผยแพร่คลิปดังกล่าวใน X และอินสตาแกรม ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567 โดยเขาเขียนคำบรรยายเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า คลิปวิดีโอแสดงภาพการชุมนุมสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในเมืองลียง (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
LYON : Rassemblement en soutien aux palestiniens ce samedi 1er juin ! #Lyon#Gaza#Israel#GazaMassacare#manif1erjuin#rafah#palestine#gazaunderseigepic.twitter.com/IdmwoIsINM
— Bismuth Back (@Bismuthback) June 1, 2024
"ผมถ่ายวิดีโอต้นฉบับในเมืองลียงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน" เขายืนยันกับ AFP ทางข้อความ และกล่าวเสริมว่า การชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นที่จัตุรัสปลาซ แบลล์คูร์ (Place Bellecour) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองลียง
เขากล่าวว่าการชุมนุมนี้เป็นการแสดงออกเพื่อสนับสนุนชาวปาเลสไตน์และ "ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งฝรั่งเศสอย่างแน่นอน"
คำอธิบายชุดข้อมูล (Metadata) ของไฟล์ต้นฉบับที่แบ็กแชร์ให้กับ AFP ยืนยันว่า คลิปดังกล่าวถูกบันทึกไว้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 -- ทั้งที่มาครงประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน
นอกจากนี้ ภาพที่ปรากฏในโพสต์เท็จตรงกับภาพสตรีทวิวของจัตุรัสปลาซ แบลล์คูร์ในแผนที่กูเกิล (ลิงก์บันทึก)
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า มีผู้เข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้จำนวนหลายพันคน โดยการชุมนุมจัดโดยกลุ่มคอลเล็กทีฟ 69 (Collectif 69) ที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซา คว่ำบาตรอิสราเอล และคุ้มครองชาวปาเลสไตน์ (ลิงก์บันทึกที่นี่ นี่ และ นี่) กลุ่มดังกล่าวได้ประชาสัมพันธ์การชุมนุมครั้งนี้ทางเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ (ลิงก์บันทึก)
เพจเฟซบุ๊กของคอลเล็กทีฟ 69 ได้แชร์ภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นผู้ชุมนุมกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ (ลิงก์บันทึก)
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จที่เกี่ยวกับการเมืองในประเทศฝรั่งเศสที่ นี่ และ นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา