ภาพโลมาสีชมพูที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลายถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ภาพโลมาสีชมพูถูกแชร์อย่างกว้างขวางบนสื่อสังคมออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพโลมาสีชมพูจากเหตุการณ์จริง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลระบุว่า โลมาสีชมพูเป็นโลมาสายพันธุ์ที่พบได้ยาก และภาพที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลายนี้ไม่ใช่ภาพถ่ายโลมาสีชมพูจากเหตุการณ์จริง ที่จริงแล้ว ภาพนี้ถูกสร้างโดยบัญชีผู้ใช้งานที่เรียกตนเองว่า 'นักสร้างสรรค์คอนเทนต์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI)' 

"เป็นภาพที่หาดูได้ยากกับน้อง 'โลมาสีชมพู'" โพสต์ X เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 

โพสต์ดังกล่าวแสดงภาพโลมาสีชมพูผิวมันวาวที่กำลังกระโดดขึ้นเหนือน้ำ

ภาพเดียวกันนี้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าโลมาสีชมพูในภาพนั้นถูกพบในสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหาดขนอม จ.นครศรีธรรมราช ไปจนถึงเกาะโบโฮล ประเทศฟิลิปปินส์ หรือรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

โพสต์ภาพโลมาสีชมพูบน X นั้นถูกแชร์ไปมากกว่า 58,000 ครั้ง และได้รับการกดถูกใจมากกว่า 63,000 ครั้ง และยังมีโพสต์ภาษาไทยอื่น ๆ ที่นี่  นี่ และ นี่ นอกจากนี้ ภาพดังกล่าวยังถูกแชร์ในโพสต์ภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ  เกาหลี  มลายู และ สิงหล

ผู้ใช้งานบางส่วนเชื่อว่าภาพนี้เป็นภาพโลมาสีชมพูในเหตุการณ์จริง

"ฮืออน้องงงงง สีสวยมากกกก" ความคิดเห็นหนึ่งระบุ

"เคยเห็นที่สงขลา ตอนออกไปตกปลา เจอเป็นฝูงเลย" อีกความคิดเห็นระบุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อค้นหาภาพย้อนหลังบนกูเกิล พบว่าภาพโลมาสีชมพูนั้นถูกแชร์ครั้งแรกในโพสต์เฟซบุ๊กที่เขียนคำบรรยายอย่างชัดเจนว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่ภาพจริง

เพจเฟซบุ๊กชื่อ "Outer Banks Vibes" โพสต์รูปและเขียนคำบรรยายว่า พบสัตว์ชนิดนี้บริเวณชายฝั่งของนอร์ทแคโรไลนาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีการแก้ไขคำบรรยายของโพสต์ดังกล่าวซึ่งถูกแชร์กว่า 74,000 ครั้ง ว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ "สร้างด้วยเอไอ"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก Outer Banks Vibes

นอกจากนี้ เพจเฟซบุ๊กดังกล่าวได้เผยแพร่ภาพชุดคล้าย ๆ กันของ "โลมาที่กำลังทรมาน" ซึ่งแสดงภาพโลมาสีชมพูเกยตื้นอยู่บนหาดนอร์ทแคโรไลนา โดยคำบรรยายระบุว่าเป็นภาพที่สร้างด้วยเอไอ (ลิงก์บันทึก)

'ไม่เหมือนจริง'

ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลระบุว่า ไม่มีรายงานว่ามีการพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์หายากดังกล่าวทั้งในโบโฮลและนอร์ทแคโรไลนา

"ไม่มีรายงานการพบเห็นโลมาสีชมพูในโบโฮล" โยฮัน เทฮาดา นักชีววิทยาทางทะเลจากสำนักงานประมงและทรัพยากรทางทะเลในฟิลิปปินส์ กล่าวกับ AFP

เทฮาดากล่าวว่าภาพที่ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์นั้นเป็น "ภาพที่ถูกตัดต่อหรือสร้างขึ้นอย่างเห็นได้ชัด" และ "มีลักษณะไม่เหมือนโลมาสีชมพูของจริง"

ด้านโฆษกกองประมงทะเลของนอร์ทแคโรไลนาระบุว่า "ไม่มีรายงานที่ยืนยันว่าพบโลมาสีชมพูในน่านน้ำบริเวณนอร์ทแคโรไลนา"

โลมาสีชมพูในไทย

แม้ภาพที่ปรากฏในโพสต์ออนไลน์ดังกล่าวนั้นจะไม่ใช่ภาพจริงของโลมาสีชมพู แต่ในประเทศไทยมีรายงานว่าสามารถพบเห็นโลมาสีชมพูได้ตลอดทั้งปี

"โลมาสีชมพูนั้นเป็นโลมาสายพันธุ์หายากซึ่งปัจจุบันเหลือจำนวนไม่มากนัก สามารถพบได้ในบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามันของประเทศไทยได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบในหาดขนอมมากที่สุด" ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล ให้สัมภาษณ์กับ AFP 

อย่างไรก็ตาม ภาพโลมาสีชมพูในโพสต์นั้น "สร้างจากเอไออย่างชัดเจน" ดร. ธรณ์กล่าว

โลมาสีชมพูมีสองสายพันธุ์ คือ โลมาแม่น้ำแอมะซอนและโลมาหลังโหนก (ลิงก์บันทึก)

องค์กรอนุรักษ์วาฬและโลมา (Whale and Dolphin Conservation) ระบุว่า โลมาทั้งสองสายพันธุ์นี้เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

โลมาแม่น้ำแอมะซอนอาศัยอยู่ในแม่น้ำบริเวณป่าฝนในทวีปอเมริกาใต้ โดยมีลักษณะช่วงปากเรียวยาว และจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือชมพู-เทาเมื่อมีอายุมากขึ้น (ลิงก์บันทึก)

ส่วนโลมาหลังโหนกนั้นพบได้ในไทย จีน ไต้หวัน และฮ่องกง โดยมีลักษณะลำตัวสีเทาไปจนถึงขาวเผือกหรือชมพูอ่อน (ลิงก์บันทึก)

Image
เปรียบเทียบภาพโลมาแม่น้ำแอมะซอน (ซ้าย) และโลมาหลังโหนก (ขวา) ภาพจากองค์กรอนุรักษ์วาฬและโลมา (Whale and Dolphin Conservation) (Whale and Dolphin Conservation)

เอเอ ยัปตินไซ ผู้อำนวยการองค์กรคุ้มครองสิ่งมีชีวิตทางทะเลของฟิลิปปินส์ (Marine Wildlife Watch) ระบุว่า ภาพโลมาสีชมพูนั้นเป็น "ของปลอม" เนื่องจากโลมาในภาพมีลักษณะแตกต่างจากโลมาสีชมพูทั้งสองสายพันธุ์

"โลมาในภาพน่าจะเป็นโลมาปากขวดที่ถูกปรับสีจากสีขาวให้เป็นสีชมพูสด" เขากล่าวกับ AFP

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จอื่น ๆ เกี่ยวกับภาพที่สร้างด้วยเอไอ เช่น ภาพปลาหมึกยักษ์ และ ภาพช้างปีนต้นไม้

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา