ผู้ใช้งานเฟสบุ๊กแชร์โพลล์ปลอมของ "มหาวิทยาลัยที่ศิษย์เก่าหน้าตาดีที่สุด"

นิตยสารไทม์ส ไฮเออร์ เอดูเคชัน (THE) ยืนยันกับ AFP ว่า ไม่ได้ตีพิมพ์ผลการจัดอันดับ "มหาวิทยาลัยที่มีศิษย์เก่าหน้าตาดีที่สุด 20 อันดับแรกของโลก" ซึ่งตรงกันข้ามกับคำกล่าวอ้างเท็จที่ถูกโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ในปี 2567 จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของ THE ระบุว่าพวกเขาใช้ 5 เกณฑ์หลักในการจัดอันดับ ได้แก่ การเรียนการสอน สภาพแวดล้อมของงานวิจัย คุณภาพของงานวิจัย นวัตกรรมในอุตสาหกรรมการศึกษา และภาพรวมระหว่างประเทศ

"เรื่องดีๆ วันศุกร์ จุฬาฯติดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีศิษย์เก่าหน้าตาดีที่สุด 20 อันดับแรกของโลก (World Top 20 Universities with the best-looking alumni )" ผู้ใช้งานเฟสบุ๊กบัญชีหนึ่งโพสต์คำบรรยายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567

รูปภาพในโพสต์ดังกล่าวปรากฏข้อความภาษาอังกฤษ "World Top 20 Universities with the best-looking alumni" (มหาวิทยาลัยที่มีศิษย์เก่าหน้าตาดีที่สุด 20 อันดับแรกของโลก) รวมถึงตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และโลโก้ของผู้จัดอันดับบริเวณมุมซ้ายบนของรูป

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 10 ของโพสต์เท็จ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567

รูปภาพดังกล่าวถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเดียวกันที่นี่  นี่  นี่ และ นี่

ศูนย์ตรวจสอบข้อมูลเท็จของไต้หวัน (Taiwan FactCheck Center) ได้รายงานการตรวจสอบคำกล่าวอ้างและรูปภาพการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ถูกตัดต่อขึ้น หลังมีการแชร์โพสต์เท็จในภาษาจีนด้วยเช่นกัน (ลิงก์บันทึก)

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์หลายรายเชื่อว่ารูปภาพนี้แสดงผลการจัดอันดับจาก THE จริง ขณะที่บางคนถึงกับเชื่อว่ารูปลักษณ์ของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของผลการจัดอันดับปลอมดังกล่าว

"อุ๊บส์!! รู้สึกตัวเองหน้าตาดีขึ้นมาเลยทีเดียว" ความคิดเห็นหนึ่งระบุ

"เป็น survey ที่น่าศึกษาครับ IQ อาจไม่ใช่ทั้งหมด หน้าตาก็เป็นปัจจัยที่สำคัญครับ" ผู้ใช้งานเฟสบุ๊กรายหนึ่งระบุในโพสต์ที่แชร์ผลการจัดอันดับศิษย์เก่าหน้าตาดี ก่อนจะย้ำว่าตัวเองเรียนจบจากมหาวิทยาลัยที่ปรากฏในผลสำรวจ

ไม่ใช่การจัดอันดับจริง

แคลร์ บัมฟอร์ต ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรของ THE บอกกับ AFP ผ่านทางอีเมลว่าคำกล่าวอ้างนี้ "เป็นเท็จอย่างสิ้นเชิง"

"ไม่มีทางที่ไทม์ส ไฮเออร์ เอดูเคชัน จะทำการจัดอันดับโดยใช้เกณฑ์ดังกล่าว" บัมฟอร์ตยืนยัน

การค้นหาคำสำคัญต่าง ๆ บนกูเกิล ไม่พบผลการจัดอันดับดังกล่าวปรากฏบนเว็บไซต์ของ THE หรือในรายงานอื่น ๆ ที่สามารถเชื่อถือได้

นิตยสาร THE ตีพิมพ์ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยรายปี (ลิงก์บันทึก)

มหาวิทยาลัยทั่วโลกจะถูกจัดอันดับจาก 5 เกณฑ์หลัก คือ การเรียนการสอน สภาพแวดล้อมของงานวิจัย คุณภาพของงานวิจัย นวัตกรรมในอุตสาหกรรมการศึกษา และภาพรวมระหว่างประเทศ (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของหลักเกณฑ์ที่ THE ใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก

รายงานการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ THE ระบุว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดอันดับมาหลายครั้งนับตั้งแต่การตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2547 อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์เกี่ยวกับ 'หน้าตาของศิษย์เก่า' ไม่เคยถูกใช้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดในการจัดอันดับแต่อย่างใด

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับที่ 601-800 ของโลก และอันดับที่ 117 ของเอเชียในผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยปี 2567 ของ THE

Image
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยติดอันดับที่ 601-800 ของโลก (ซ้าย) และอันดับที่ 117 ของเอเชีย (ขวา) ในผลการจัดอันดับปี 2567 ของ THE

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา