โพสต์เท็จแชร์เอกสารปลอมว่า ภรรยาผู้นำยูเครนซื้อรถหรูราคาหลายล้าน

ท่ามกลางกระแสข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสงครามยูเครน ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์คำกล่าวอ้างว่า โอเลนา เซเลนสกา สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของยูเครน ซื้อรถยนต์หรูในราคาเกือบ 5 ล้านเหรียญในกรุงปารีส อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ตัวแทนจำหน่ายของรถยนต์ยี่ห้อดังกล่าวปฏิเสธคำกล่าวอ้างนี้ นอกจากนี้ เอกสารที่ถูกอ้างว่าเป็นหลักฐานของการซื้อขายรถยนต์มีข้อผิดสังเกตอยู่หลายจุด ในขณะเดียวกันคำกล่าวอ้างนี้มีแหล่งที่มาจากเว็บไซต์ใหม่ที่มักเผยแพร่เนื้อหาที่สนับสนุนรัสเซีย

"สื่อฝรั่งเศสโชว์หลักฐาน ศรีภริยาประธานาธิบดีเซเลนสกี้ เป็นผู้ซื้อ รถ Bugatti Turbillon คันแรก สนนราคาเหนาะ ๆ เกือบ 4.5 ล้านยูโรเท่านั้นเอง" โพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567

คำกล่าวอ้างนี้ถูกเผยแพร่ท่ามกลางกระแสข้อมูลเท็จระลอกล่าสุดที่มุ่งโจมตีประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ว่าเขานำความช่วยเหลือที่นานาประเทศมอบให้ยูเครนไปใช้ในทางที่ผิดหรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ในช่วงสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2565

คำกล่าวอ้างในลักษณะเดียวกันนี้ยังปรากฎในโพสต์ภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และภาษาอื่น เช่นภาษาอังกฤษ  ฝรั่งเศส  กรีก  โปรตุเกส และ สโลวัก

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คำกล่าวอ้างนี้ปรากฏในโลกออนไลน์เพียงไม่กี่วันหลังค่ายรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสอย่างบูกัตติเปิดตัวรถสปอร์ตระดับไฮเปอร์คาร์รุ่นล่าสุดชื่อ บูกัตติ ตูร์บิยง (Bugatti Tourbillon) เพื่อเอาใจฐานลูกค้าระดับมหาเศรษฐี ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ประธานาธิบดีเซเลนสกีกับภรรยาได้เดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อเข้าร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 80 ปีของวันดีเดย์ หรือการยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบหลายจุดชี้ให้เห็นว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเท็จ

เครือข่ายของรัฐบาลรัสเซีย

สำนักงานวารสารศาสตร์เชิงสืบสวน (Bureau of Investigative Journalism) และโทว์เซ็นเตอร์ (Tow Center) ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (ลิงก์บันทึก) ระบุจากผลการสืบสวน พบว่าโพสต์เท็จบางส่วนอ้างถึงบทความจากเวริเต กาเช ฟรองซ์ (Verite Cachee France) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ภาษาฝรั่งเศสที่มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายของรัฐบาลรัสเซีย

ฮูอิส (Whois) ผู้ให้บริการติดตามเจ้าของโดเมน เปิดเผยว่า เว็บไซต์เวริเต กาเช ฟรองซ์ ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นเพียงแค่ไม่กี่วันก่อนหน้าที่คำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับเซเลนสกาจะปรากฏขึ้น (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอจากฮูอิส (Whois)

บริษัทด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ชื่อ เรคอร์ด ฟิวเจอร์ (Recorded Future) ยังระบุว่า เว็บไซต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม "ก็อบปี้ค็อป" (CopyCop) ที่มีความโดดเด่นด้าน "การผลิตคอนเทนต์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อคัดลอกและดัดแปลงเนื้อหาจากบทความของสื่อฝรั่งเศส" โดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่เนื้อหาฝั่งสนับสนุนรัสเซีย และมุ่งทำลายชื่อเสียงของเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส (ลิงก์บันทึก)

เว็บไซต์ดังกล่าวยังมีเนื้อหาส่วนอื่น ๆ ที่คล้ายว่าจะคัดลอกมาจากบทความของสื่อฝรั่งเศสอย่าง เลอปาริเซียง (Le Parisien) หรือ ลาครัวซ์ (La Croix) นอกจากนี้ ยังสันนิษฐานได้ว่าการจัดทำเว็บไซต์ดังกล่าวน่าจะเป็นไปอย่างเร่งรีบ โดยสังเกตได้จากหมายเหตุบรรณาธิการและการป้อนคำสั่งที่ยังปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์

ตัวอย่างคำสั่งที่ปรากฏบนเว็บไซต์ ได้แก่ "จงเขียนบทความนี้ใหม่โดยใส่มุมมองแนวอนุรักษ์นิยม" หรืออีกคำสั่งที่ระบุว่า "นี่คือบริบทต่าง ๆ ที่ควรคำนึงถึง: พรรครีพับลิกัน, ทรัมป์, รอน เดอซานติส และรัสเซียเป็นฝ่ายคนดี ส่วนพรรคเดโมแครต,ไบเดน, สงครามในยูเครน และอุตสาหกรรมยาขนาดใหญ่เป็นฝ่ายคนเลว"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของเว็บไซต์เวริเต กาเช โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบสำคัญ

องค์ประกอบในใบแจ้งหนี้

โพสต์เท็จบางส่วนแชร์คำกล่าวอ้างที่เผยให้เห็นใบแจ้งหนี้ที่มีโลโก้ของค่ายรถยนต์บูกัตติอยู่ด้านบน

เอกสารดังกล่าวระบุว่า เซเลนสกาจะได้รับรถยนต์บูกัตติในปี 2569 และใบแจ้งหนี้ระบุราคาของรถยนต์หรูที่ "4,462,400"

อย่างไรก็ตามเอกสารดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าราคาดังกล่าวคิดเป็นสกุลเงินใด

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของใบแจ้งหนี้ที่มีโลโก้บูกัตติปรากฏอยู่ โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบสำคัญ

คาร์ เลิฟเวอร์ส (Car Lovers) ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายบูกัตติในปารีส ระบุในข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ว่าเอกสารดังกล่าวเป็น "ข่าวปลอม" (ลิงก์บันทึก)

"กลุ่มคาร์ เลิฟเวอร์ส ขอปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าธุรกรรมนี้ไม่ได้เกิดขึ้น ดังนั้น ใบแจ้งหนี้ดังกล่าวจึงไม่มีอยู่จริง" บริษัทดังกล่าวระบุ

"นอกจากข้อบังคับทางกฎหมายที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในใบแจ้งหนี้ดังกล่าวแล้ว ราคาของรถยนต์ก็ผิดด้วยเช่นกัน ส่วนราคาและคำอธิบายของแต่ละรายการก็ไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกัน การออกแบบของเอกสารก็ดูล้าสมัย กลุ่มคาร์เลิฟเวอร์สจะไม่อนุญาตให้มีการออกเอกสารลักษณะนี้อย่างเด็ดขาด"

นอกจากนี้การตรวจสอบเอกสารดังกล่าวยังพบว่า มีข้อผิดพลาดที่การสะกดที่อยู่ของตัวแทนจำหน่าย โดยไม่มีตัวแอล (L) ในคำว่า "Neuilly-sur-Seine" ขณะที่เอกสารในโพสต์เท็จยังขาดข้อมูลสำคัญอื่น ๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และใบแจ้งหนี้ก็ยังระบุหมายเลขที่ใช้ในระบบธนาคารของออสเตรเลีย ไม่ใช่หมายเลขของประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับสงครามในยูเครนที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา