ภาพที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกแชร์ในโพสต์เท็จว่าเป็นภาพการสร้างพีระมิดในอียิปต์

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลกเผยแพร่ภาพที่สร้างจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่แสดงให้เห็นคนจำนวนมากแบกหินขนาดใหญ่ พร้อมคำกล่าวอ้างว่า เป็นภาพการก่อสร้างพีระมิดในอียิปต์ราว ๆ 2549 ปีก่อนคริสตกาล อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกับ AFP ว่า พีระมิดแห่งกีซานั้นถูกสร้างขึ้นหลายพันปีก่อนหน้าที่จะมีการประดิษฐ์กล้องถ่ายรูป และการก่อสร้างพีระมิดดังกล่าวน่าจะใช้การลากบล็อกหินบนพาหนะเลื่อนมากกว่า

"ภาพถ่ายระหว่างการสร้างปิรามิดในอียิปต์ ถ่ายขึ้นเมื่อ 2549 ปีก่อนคริสกาล นี่พิสูจน์ได้ว่า ปิรามิดไม่ได้สร้างด้วยเอเลี่ยน" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งเขียนคำบรรยายในโพสต์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567

กลุ่มพีระมิดแห่งกีซาถูกสร้างขึ้นระหว่าง 2589 ถึง 2504 ปีก่อนคริสตกาล สมาคมวิจัยอียิปต์โบราณระบุ (ลิงก์บันทึก)

Image

การทดลองการถ่ายภาพประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 1822 เมื่อนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสชื่อนีเซฟอร์ เนียปส์สามารถพิมพ์ภาพที่มีน้ำมันลงบนแผ่นหินได้ (ลิงก์บันทึก)

ในปีค.ศ. 1826 เนียปส์สามารถ0ภาพถ่ายธรรมชาติได้เป็นครั้งแรก โดยใช้กล้องทาบเงาที่ติดตั้งแผ่นโลหะดีบุกผสม

ภาพการก่อสร้างพีระมิดดังกล่าวยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้าย ๆ กันในภาษาไทยที่ นี่ และ นี่ รวมไปถึงในภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ  ฝรั่งเศส  ญี่ปุ่น และ อินโดนีเซีย

ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบางคนแสดงความคิดเห็นที่ชี้ว่า พวกเขาเชื่อว่าภาพดังกล่าวถูกถ่าย 2549 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นเวลาหลายพันปีก่อนที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพจะถูกค้นพบ

"อิฐมวลเบา พอสร้างเสร็จค่อยเสริมความแข็งทีหลัง" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งระบุ

"คนในอดีตนี่เขาแข็งแรงกันจริงๆ" ผู้ใช้งานอีกรายเขียนคำบรรยาย

ภาพถูกดัดแปลง

เมื่อค้นหาภาพแบบย้อนหลังโดยใช้กูเกิลและยานเด็กซ์ พบว่าภาพที่มีความคมชัดกว่าถูกเผยแพร่พร้อมกับภาพอีก 2 ภาพในเพจเฟซบุ๊กชื่อ "Institute of Alternative History and Archeology" หรือ "สถาบันประวัติศาสตร์ทางเลือกและโบราณคดี" เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 (ลิงก์บันทึก)

เพจดังกล่าวระบุอย่างชัดเจนว่า มีเจตนาเผยแพร่ภาพเหล่านี้เพื่อให้เป็นมุกตลก โดยเขียนคำบรรยายว่า "ภาพถ่ายอย่างเป็นทางการที่บันทึกการก่อสร้างมหาพีระมิดในอียิปต์ 2,600 ปีก่อนคริสตกาล (ขำๆ นะ)"

ต่อมา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน เพจเฟซบุ๊กอีกเพจได้เผยแพร่ภาพดังกล่าวโดยระบุว่า "ไม่ใช่เรื่องจริงและเพื่อความบันเทิงเท่านั้น" (ลิงก์บันทึก)

หลายเดือนต่อมา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 เพจดังกล่าวแก้ไขคำบรรยาย และระบุว่าภาพที่เผยแพร่นั้นเป็นภาพที่สร้างโดย AI (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่แชร์ในโพสต์เฟซบุ๊กที่เผยแพร่คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพที่เผยแพร่โดยเพจเฟซบุ๊กชื่อ Institute of Alternative History and Archeology (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่แชร์ในโพสต์เฟซบุ๊กที่เผยแพร่คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพที่เผยแพร่โดยเพจเฟซบุ๊กชื่อ Institute of Alternative History and Archeology (ขวา)

ร่องรอยของ AI

ภาพดังกล่าวมีร่องรอยว่าถูกสร้างโดย AI โดยมีจุดสังเกตที่เท้าและลำตัวของคนในภาพ

ด้านล่างคือภาพที่ถูกเผยแพร่โดยเพจเฟซบุ๊ก Institute of Alternative History and Archeology โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นลักษณะที่ผิดปกติในภาพ:

Image
ภาพที่ถูกเผยแพร่โดยเพจเฟซบุ๊ก Institute of Alternative History and Archeology โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นลักษณะที่ผิดปกติในภาพ


AFP ได้นำภาพดังกล่าวไปตรวจสอบในเครื่องมือชื่อ ไฮฟ์ เอไอ ดีเท็กเตอร์ โดยผลประมวลว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ "สร้างโดย AI 100 เปอร์เซ็นต์" (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของผลลัพธ์ที่แสดงในไฮฟ์ เอไอ ดีเท็กเตอร์

ความไม่ถูกต้องทางประวัติศาสตร์

ผู้เชี่ยวชาญระบุกับ AFP ว่า ภาพดังกล่าวไม่ได้เผยให้เห็นการเคลื่อนย้ายหินเพื่อสร้างพีระมิดที่ถูกต้องตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์

"การลากหินไปบนเลื่อนมีความเป็นไปได้มากกว่า ภาพวาดจากยุคอียิปต์โบราณเผยให้เห็นว่าพวกเขาใช้วิธีการนั้นในการเคลื่อนย้ายวัตถุขนาดใหญ่" ซาลิมา อิคราม นักโบราณคดีและศาสตราจารย์ด้านอิยิปต์จากมหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงไคโรระบุ

"ส่วนภาพที่ถูกแชร์ออนไลน์น่าจะมาจากภาพยนตร์ซักเรื่องหรือถูกสร้างโดย AI" อิครามกล่าวเสริม

"นี่ไม่ใช่วิธีที่ชาวอียิปต์โบราณเคลื่อนย้ายหิน" มาร์ก เลห์เนอร์ หัวหน้าและประธานของสมาคมผู้วิจัยอิยิปต์โบราณ (Ancient Egypt Research Associates) กล่าว

องค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงของอินเดียได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างนี้เช่นกัน (ลิงก์บันทึก)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวข้องกับภาพที่สร้างโดย AI ที่ นี่  นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา