
โพสต์เท็จแชร์ภาพเก่าและอ้างว่าเป็นเรือสินค้าของเมอส์กที่ถูกกบฏฮูตีโจมตีในเดือนกรกฎาคม 2567
- เผยแพร่ วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 เวลา 11:33
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Pasika KHERNAMNUOY, AFP Thailand
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ด่วน !!! โจมตีเรือที่ติดธงชาติสหรัฐฯ ในอ่าวเอเดน โฆษกของบริษัทขนส่ง"เมียร์สค์" ของเดนมาร์กกล่าวว่า มีการโจมตีกำหนดเป้าหมายเรือลำหนึ่งของบริษัทดังกล่าวที่ติดธงชาติสหรัฐฯ ซึ่งกำลังแล่นอยู่ณ จุดเหนือสุดของอ่าวเอเดน" ผู้ใช้งานเฟสบุ๊กบัญชีหนึ่งโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567
โพสต์ดังกล่าวแสดงภาพของเรือเดินสมุทรชื่อ "Arlin Luanda" สีน้ำเงินเข้มที่กำลังลุกไหม้

โพสต์นี้ถูกแชร์หลังจากที่เมอส์กออกมายืนยันว่า เรือเดินสมุทรชื่อเมอส์ก เซนโตซา "ถูกวัตถุบินพุ่งเข้าโจมตี" บริเวณเหนือสุดของอ่าวเอเดนในวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 (ลิงก์บันทึก)
"ไม่มีรายงานการบาดเจ็บของลูกเรือ รวมถึงไม่มีรายงานความเสียหายต่อเรือและตู้สินค้า" เมอส์กกล่าวเพิ่มเติม
กลุ่มกบฏฮูตีซึ่งควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเยเมน ได้เริ่มปฏิบัติการโจมตีเรือขนสินค้าในบริเวณทะเลแดงและอ่าวเอเดนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 โดยอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อยืนหยัดเคียงข้างชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ซึ่งอยู่ในภาวะสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส
กองทัพสหรัฐฯ และอังกฤษเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารตอบโต้กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน และยังมีกองกำลังนานาชาติเข้าช่วยสกัดโดรนและขีปนาวุธที่เล็งเป้าโจมตีเรือสินค้าต่าง ๆ
ชนวนสงครามเกิดจากเหตุการณ์ที่กลุ่มฮามาสยิงโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 AFP รายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวอยู่ที่จำนวน 1,195 ราย ส่วนมากเป็นพลเรือน โดยอ้างอิงตัวเลขจากทางการอิสราเอล
อิสราเอลตอบโต้ด้วยปฏิบัติการทางทหารเพื่อปิดล้อมโจมตีฉนวนกาซา ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38,790 ราย ส่วนมากเป็นพลเรือนเช่นกัน จากตัวเลขที่อ้างอิงจากกระทรวงสาธารณสุขกาซา
ภาพดังกล่าวถูกแชร์บนเฟสบุ๊กและติ๊กตอก พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียวกันว่าเป็นภาพเรือของเมอส์กที่ถูกกบฏฮูตีโจมตีในเดือนกรกฎาคม
ภาพจากอีกเหตุการณ์
อย่างไรก็ตาม การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญต่าง ๆ บนกูเกิล พบว่าภาพเดียวกันนี้ถูกโพสต์ครั้งแรกบนบัญชี X ของโฆษกกองทัพเรืออินเดีย (ลิงก์บันทึก)
คำบรรยายบางส่วนแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "#กองทัพเรืออินเดีย ได้ส่งกลุ่ม #INSVisakhapatnam ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จัดการขีปนาวุธมืออาชีพ เพื่อเข้าช่วยเหลือเรือเดินสมุทร #มาร์ลินลูอันดา ที่ขอความช่วยเหลือเข้ามาในคืนวันที่ #26มค2567"
ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอเปรียบเทียบระหว่างภาพในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับของกองทัพเรืออินเดีย (ขวา):

AFP รายงานว่า โฆษกกลุ่มกบฏฮูตีแถลงว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการยิงขีปนาวุธหลายลูกถล่มเรือมาร์ลิน ลูอันดา เรือบรรทุกน้ำมันของทราฟิกูรากรุ๊ปซึ่งบริหารงานโดยบริษัทอังกฤษ
กองบัญชาการกลางกองทัพสหรัฐฯ ยืนยันเหตุโจมตีนี้และระบุว่าเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ใหญ่ โดยกองทัพเรือของสหรัฐฯ อินเดีย และฝรั่งเศสได้ตอบรับเข้าช่วยเหลือเพื่อดับเพลิงบนเรือ (ลิงก์บันทึก)
สื่อต่างประเทศหลายสำนัก อย่างเช่น เอเจนซีข่าว AP และหนังสือพิมพ์ของอังกฤษเดอะการ์เดียน ได้ใช้ภาพนี้ประกอบการรายงานเหตุโจมตีเรือมาร์ลิน ลูอันดาเช่นกัน (ลิงก์บันทึก ที่นี่และนี่)
อ่านรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP เกี่ยวกับการโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตีที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา