กระทู้แชร์คำกล่าวอ้างเท็จว่า ไม่มีคำสั่งให้หยุดมือปืนที่ลอบยิงทรัมป์

เหตุลอบยิงอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระหว่างการปราศรัยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บอีก 3 ราย ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ชื่อ โจนาธาน วิลลิส ที่สังหารมือปืนได้ออกมาจากวิจารณ์หน่วยงานของตนทางเว็บบอร์ดโฟร์แชน (4chan) เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางระบุกับ AFP ว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ชื่อดังกล่าว ส่วนเว็บบอร์ดที่เผยแพร่คำกล่าวอ้างนี้ก็เป็นช่องทางที่ทฤษฎีสมคบคิดถูกเผยแพร่อยู่บ่อยครั้ง

"โจนาธาน วิลลิส เจ้าหน้าที่ในภาพชื่อดัง ได้แจ้งให้สาธารณชนทราบว่าเขามีคนร้ายอยู่ในสายตาเป็นเวลาอย่างน้อย 3 นาที แต่หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับปฏิเสธที่จะออกคำสั่ง เพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดออกไป" โพสต์ X เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567

"พวกเขาขัดขวางไม่ให้เขาหยุดมือสังหารก่อนที่เขาจะยิงประธานาธิบดีทรัมป์"

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ต่ออีกกว่า 6,000 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ยังปรากฏในโพสต์ภาษาไทยที่นี่ และ นี่ และในเว็บบอร์ดภาษาอังกฤษโฟร์แชน (4Chan) รวมไปถึงภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาเยอรมัน และ สเปน

การรายงานของสื่ออย่างฮินดูสถาน ไทมส์  (Hindustan Times) ในอินเดียและ วอชิงตัน เอ็กแซมมิเนอร์ (Washington Examiner) ยิ่งทำให้มีการพูดถึงทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับการลอบสังหารทรัมป์มากขึ้น

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของฮินดูสถานไทมส์
Image
ภาพถ่ายหน้าจอของอินสตาแกรม


สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ เอฟบีไอ (FBI) ระบุว่า โธมัส แมทธิว ครูกส์ อายุ 20 ปี จากเบเธลพาร์ค รัฐเพนซิลวาเนีย เป็นมือปืนที่ก่อเหตุดังกล่าว ที่มีผู้เสียชีวิต 1 รายและได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 2 คน (ลิงก์บันทึก)

ทีมสไนเปอร์ของหน่วยสืบราชการลับยิงสังหารครูกส์ หลังจากกระสุนของผู้ก่อเหตุยิงเข้าที่ใบหูข้างขวาของทรัมป์

คลิปวิดีโอที่บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ ตรงกับคำบรรยายของพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ว่า พวกเขาได้แจ้งให้ตำรวจและชี้ให้เห็นว่ามีมือปืนอยู่บนหลังคา วอชิงตันโพสต์รายงานว่า เสียงปืนที่พุ่งเป้าสังหารทรัมป์ดังขึ้น 86 วินาทีหลังมีผู้พยายามเตือนตำรวจเป็นครั้งแรก (ลิงก์บันทึก

เมื่อหน่วยสืบราชการลับเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลวในการรักษาความปลอดภัย ทางหน่วยงานจึงให้คำมั่นว่าจะให้ความร่วมมือต่อการตรวจสอบโดยอิสระตามคำสั่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

เนท แฮร์ริ่ง โฆษกของหน่วยสืบราชการลับ กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมว่า คำกล่าวอ้างที่แพร่กระจายทางโลกออนไลน์นั้น "เป็นเท็จอย่างเด็ดขาด"

"ไม่มีการสมคบคิดแต่อย่างใด และไม่มีคนชื่อนั้นทำงานให้กับหน่วยสืบราชการลับ" แฮร์ริ่งกล่าวถึงคำกล่าวอ้างที่ปรากฏในเว็บบอร์ดโฟร์แชน

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม อดัม รีด ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารของกรมตำรวจรัฐเพนซิลเวเนีย ระบุกับ AFP ในอีเมลว่า ไม่มีเจ้าหน้าชื่อโจนาธาน วิลลิสอยู่ในกรมตำรวจเช่นกัน (ลิงก์บันทึก)

AFP ไม่พบหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว นอกจากนี้ องค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระอื่นๆ เช่น ที่นี่  นี่ และ นี่ ก็ได้หักล้างคำกล่าวอ้างนี้ด้วย

AFP ติดต่อกรมตำรวจในบัตเลอร์ซิตี้เพื่อขอความคิดเห็นเพิ่มเติม แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ

กระทู้ข่าวทางเลือก

โฟร์แชนเป็นแหล่งที่มาของข้อมูลเท็จเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ มานานหลายปี เช่น เหตุกราดยิงและสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ไปจนถึงทฤษฎีสมคบคิดอย่าง พิซซ่าเกต (Pizzagate) และคิวอะนอน (QAnon)

ผู้ใช้งานโฟร์แชนที่ไม่เปิดเผยชื่อได้เผยแพร่โพสต์ที่วิจารณ์การทำงานของหน่วยสืบราชการลับระหว่างการก่อเหตุลอบสังหารทรัมป์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม โดยบัญชีดังกล่าวได้เผยแพร่คำกล่าวอ้างนี้ใน 4 กระทู้เท่านั้น 

เมื่อค้นหาภาพแบบย้อนหลัง พบว่าภาพที่ถูกเผยแพร่พร้อมคำกล่าวอ้างนั้นถูกถ่ายโดยจีน เจ พุสการ์ ช่างภาพของ Associated Press โดยเจ้าหน้าที่คนหนึ่งสวมเสื้อเกาะกันกระสุนที่ด้านหลังระบุว่า "หน่วยสืบราชการลับ" (ลิงก์บันทึก

คิมเบอร์ลี ชีเทิล ผู้อำนวยการของหน่วยสืบราชการลับ กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมว่า เจ้าหน้าที่ได้ "ตอบสนองอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โดยทีมมือปืนซุ่มยิงตอบโต้ของเราได้ใช้มาตรการป้องกัน เพื่อรักษาความปลอดภัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์" (ลิงก์บันทึก)

แอนโธนี กุเกลียลมี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของหน่วยสืบราชการลับ ปฏิเสธในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมว่า หน่วยสืบราชการลับไม่ได้ปฏิเสธคำขอจากทีมของทรัมป์ในการเพิ่มการรักษาความปลอดภัย (ลิงก์บันทึก)

"ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้ หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐฯ ได้เพิ่มทรัพยากรและความสามารถในการรักษาความปลอดภัยให้กับทีมอารักขาของทรัมป์" เขากล่าว

มิเชล-ฌาค กากเน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และทฤษฎีสมคบคิด แห่งวิทยาลัยแชมเปลน เซนต์-แลมเบิร์ตในแคนาดา กล่าวกับ AFP ว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ผู้สนับสนุนทรัมป์บางคนเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับแนวคิด “รัฐพันลึก” (deep state) เมื่อเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารทรัมป์ (ลิงก์บันทึก

"สำหรับชาวอเมริกันหลายคนที่รู้สึกโดดเดี่ยวจากศูนย์กลางอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ … พวกเขามองว่า รัฐบาลกลางมีจุดยืนที่ตรงกันกับค่านิยมดั้งเดิมของพวกเขาน้อยลงเรื่อย ๆ" กากเนกล่าว "ดังนั้น จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะจินตนาการว่าสถาบันต่าง ๆ ของรัฐบาลกลางเป็นเพียงหุ่นเชิด โดยการตัดสินใจที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นจากผู้ที่มีอำนาจที่ไม่ได้รับเลือกจากประชาชน"

AFP ได้ตรวจสอบข้อมูลเท็จที่เกี่ยวกับการพยายามลอบสังหารทรัมป์ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา