โพสต์เท็จอ้างว่าพรรคก้าวไกล 'ฟ้องคดียุบพรรคต่อศาลโลก'

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกลและเพิกถอนสิทธิการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี  ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยได้แชร์คำกล่าวอ้างเท็จว่า 'ศาลโลกรับพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล' จากการตรวจสอบ ไม่พบคดีดังกล่าวในเว็บไซต์ของศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าวกับ AFP ว่า คดียุบพรรคก้าวไกลไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลโลก

"ก้าวไกลเฮลั่น!" ข้อความที่ฝังอยู่ในโพสต์ติ๊กตอกฉบับหนึ่งระบุ โดยโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมและผู้เข้าชมกว่า 1.5 ล้านครั้ง

ข้อความดังกล่าวยังระบุต่อว่า "ศาลโลกได้หยิบเรื่องการยุบพรรคก้าวไกล พิจารณาในศาลอุทธรณ์ โอกาสชนะสูง"

วิดีโอดังกล่าวแสดงภาพสมาชิก 3 คนของพรรคก้าวไกล รวมถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นอดีตผู้นำของพรรค

พิธานำพรรคก้าวไกลคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2566 โดยได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับที่ 1 อย่างไรก็ตาม พิธาถูกขัดขวางโดยสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ที่ไม่โหวตสนับสนุนให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ติ๊กตอกที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ราวหนึ่งสัปดาห์หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี จากกรณีที่พรรครณรงค์หาเสียงและเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ลิงก์บันทึก)

คำวินิจฉัยของศาลระบุว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเกินขอบเขตและเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา สหประชาชาติ และกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ได้ออกแถลงการณ์เพื่อแสดงความกังวลต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยสหภาพยุโรประบุว่าคำตัดสินดังกล่าวเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย (ลิงก์บันทึก)

คำกล่าวอ้างดังกล่าวยังปรากฏในโพสต์เฟซบุ๊กที่นี่ และ นี่ และในยูทูปด้วย

อย่างไรก็ตาม ทีมรักษาการณ์โฆษกของพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคใหม่ของพรรคก้าวไกล ยืนยันกับ AFP ว่า พวกเขาไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คดียุบพรรคต่อศาลโลกตามคำกล่าวอ้าง

"คำกล่าวอ้างนี้ไม่เป็นความจริง" รักษาการณ์โฆษกของพรรคประชาชนกล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม

ณ วันที่ 21 สิงหาคม ไม่พบรายงานว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกำลังพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล และจากตรวจสอบบนเว็บไซต์ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็ไม่ปรากฏคดีดังกล่าวเช่นกัน (ลิงก์บันทึก)

'คดีภายในประเทศ'

นักวิชาการด้านกฎหมายให้สัมภาษณ์กับ AFP ว่า คดียุบพรรคก้าวไกลอยู่นอกขอบเขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ AFP ว่า คำกล่าวอ้างที่ปรากฏในโลกออนไลน์นั้นเป็นคำกล่าวอ้างที่ "แปลก" เนื่องจากศาลโลกนั้นเป็นศาลระหว่างประเทศ

"ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐและองค์กรระหว่างประเทศ บุคคลทั่วไปไม่สามารถยื่นฟ้องได้" เขากล่าวเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม

"คดียุบพรรคก้าวไกลเป็นคดีภายในประเทศ และไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ" เข็มทองกล่าว

ธนภัทร ชาตินักรบ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า "การยุบพรรคการเมืองในประเทศเป็นเรื่องของกฎหมายภายในประเทศและไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ"

"มาตรา 34 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศระบุว่า มีเพียงรัฐเท่านั้นที่สามารถเป็นคู่ความในศาลได้" ธนภัทรระบุในอีเมลเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม (ลิงก์บันทึก)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับพรรคก้าวไกล ที่นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา