โพสต์เท็จอ้างว่าข้าวเบญจรงค์ขายข้าว 10 ปีจากโครงการจำนำข้าว

บริษัทข้าวไทยยี่ห้อหนึ่งถูกผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในไทยกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานว่า บริษัทดังกล่าวนำข้าวค้างโกดังมาขายให้กับผู้บริโภค คำกล่าวอ้างเท็จนี้ถูกแชร์อย่างกว้างขวางหลังการประมูลข้าวเก่า 10 ปีจากโครงการจำนำข้าวสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม 2567 อย่างไรก็ตาม เอกสารจากทางการไทยระบุว่าบริษัทที่ผลิต "ข้าวเบญจรงค์" ไม่ได้เข้าร่วมการประมูลดังกล่าว และไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่ามีการผสมข้าวเก่าในข้าวยี่ห้อนี้แต่อย่างใด

"บริษัทข้าวเบญจรงค์ได้โควต้าข้าว 10 ปีจะซื้อมาบริโภคก็สังเกตกันให้ดีๆค่ะ" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพข้าวหอมมะลิไทยบรรจุถุงยี่ห้อข้าวเบญจรงค์ และเขียนข้อความที่อ้างว่าเป็นข้าวสารที่ซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ซึ่งพบเมล็ดข้าวสีเหลืองปนอยู่มากกว่าปกติ

บริเวณมุมขวาล่างของถุงข้าวสารในภาพระบุว่า "เพิ่มปริมาณฟรี 250 กรัม" และ "25th anniversary" ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ครบรอบ 25 ปี"

"สงสัยว่าจะมีการเอาข้าวสิบปีมาปนขายหรือเปล่า" โพสต์ดังกล่าวระบุ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567

คำกล่าวอ้างเท็จนี้ถูกแชร์บนโลกออนไลน์หลังมีการประกาศผลผู้ชนะประมูลข้าว 10 ปี จำนวน 15,000 ตัน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567

ข้าวค้างคลังนั้นเป็นข้าวล็อตสุดท้ายจากโครงการจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งถูกเก็บไว้ในคลังข้าว 2 แห่งในจังหวัดสุรินทร์มายาวนานกว่า 10 ปี

รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังพยายามผลักดันให้มีการขายข้าวเก่าเก็บร่วมทศวรรษในปี 2567 โดยมีผู้เชี่ยวชาญหลายรายตั้งคำถามว่าข้าว 10 ปีนี้ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคหรือไม่ (ลิงก์บันทึก)

ภาพนี้ยังปรากฏในโพสต์ที่แชร์คำกล้าวอ้างลักษณะเดียวกัน ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าบรรจุภัณฑ์รุ่นฉลองบริษัทครบรอบ 25 ปีนั้นมีข้าวเก่าจากโครงการจำนำข้าวปนอยู่ด้วย

ภาพและคำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์อย่างกว้างขวางบนเฟซบุ๊กและแอปพลิเคชันไลน์ที่นี่  นี่ และนี่

แม้ว่า AFP จะไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณภาพของข้าวสารในบรรจุภัณฑ์ตามคำกล่าวอ้างได้อย่างอิสระ แต่คำกล่าวอ้างที่ว่าข้าวเบญจรงค์ได้รับโควตาจากการประมูลข้าว 10 ปีของรัฐบาลนั้นไม่เป็นความจริง

ข้าวเบญจรงค์ไม่ได้ร่วมประมูลข้าว 10 ปี

การค้นหาด้วยคำสำคัญบนเฟซบุ๊กพบแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งถูกแชร์บนเพจของบริษัทที่ผลิตข้าวเบญจงรค์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 (ลิงก์บันทึก)

เอเชีย อินเตอร์ ไรซ์ บริษัทผู้ผลิตข้าวสารบรรจุถุงยี่ห้อข้าวเบญจรงค์ อธิบายในแถลงการณ์ว่า บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่ได้เข้าร่วมการประมูลข้าว 10 ปีของรัฐบาล (ลิงก์บันทึก)

"บริษัทฯ ไม่ได้เข้าร่วมการประมูลข้าวรัฐบาลและไม่ได้มีการซื้อขาย รวมทั้ง ไม่มีการนำข้าวสารจากการประมูลดังกล่าวมาผลิตข้าวสารบรรจุถุงของบริษัทฯ อย่างแน่นอน" บางส่วนของแถลงการณ์ระบุ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอแถลงการณ์ของเอเชีย อินเตอร์ ไรซ์

นอกจากนี้ การค้นหาคำสำคัญต่าง ๆ บนกูเกิลยังพบเอกสารที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการจัดประมูลข้าว 10 ปี (ลิงก์บันทึก)

เอกสารดังกล่าวระบุว่า มีผู้เข้าร่วมการเสนอซื้อและส่งเอกสารสำหรับการพิจารณาคุณสมบัติขั้นต้นจำนวน 8 บริษัท และมี 7 บริษัทที่ผ่านการตรวจคุณสมบัติ

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฎชื่อของเอเชีย อินเตอร์ ไรซ์ ในรายชื่อผู้เข้าร่วมการประมูลแต่อย่างใด

ต่อมาในวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 อคส.ได้ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลข้าวหลังจากมีการเลือกมาหลายครั้ง เนื่องจากประเด็นคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลและการต่อรองราคาซื้อขาย

สื่อไทยรายงานว่าบริษัทที่ชนะประมูลข้าวเก่าจากโครงการจำนำข้าวรวมมูลค่าเกือบ 250 ล้านบาท คือ บริษัท ทรัพย์แสงทองไรซ์ จำกัด และบริษัท สหธัญ จำกัด (ลิงก์บันทึก)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา