ภาพตัดต่อทำให้เชื่อว่าคำปราศรัยของทักษิณ ชินวัตรมีผู้ชมทางเฟซบุ๊กกว่า 4 ล้านคน
- เผยแพร่ วัน 5 กันยายน 2024 เวลา 08:56
- อัพเดตแล้ว วัน 6 กันยายน 2024 เวลา 09:30
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ทักษิณแสดงวิสัยทัศน์ liveสด ผู้เข้าชม 4 ล้านกว่า !!!" โพสต์ X เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567
"คนไทยเริ่มเห็นโอกาส เหล่าบรรดานักธุรกิจระดับTop ของประเทศต่างมาฟัง วิสัยทัศน์"
โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพถ่ายหน้าจอซึ่งแสดงภาพของทักษิณขณะกำลังปราศรัยบนเวที และกล่องแสดงตัวเลขของผู้ชม ณ ขณะนั้นแสดงตัวเลข 4,349,319
ทักษิณถูกยึดอำนาจจากการรัฐประหารในปี 2549 และได้ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศนานกว่า 15 ปี ก่อนตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2566 รายงานข่าวระบุว่า เขารับโทษคุมขังตลอดระยะเวลาทั้งหมดในโรงพยาบาลด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ และได้รับการปล่อยตัวตามทัณฑ์บนในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 (ลิงก์บันทึก)
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาววัย 38 ปีของทักษิณ ได้รับการโหวตสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย ถือเป็นผู้นำที่มีอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ไทยด้วยเช่นกัน
ภาพตัดต่อที่เผยให้เห็นยอดผู้ชมปราศรัยของทักษิณจำนวน 4 ล้านกว่าคนนั้นยังถูกแชร์ในโพสต์อื่น ๆ เช่น ที่นี่ และนี่
ยอดผู้ชมถูกตัดต่อ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 พบว่าการถ่ายทอดสดปราศรัยของทักษิณทางเฟซบุ๊กนั้นมียอดผู้ชมทั้งหมดราว 193,000 บัญชี (ลิงก์บันทึก)
ณ เวลา 1:38:34 ชั่วโมงของการถ่ายทอดสดซึ่งเป็นเวลาขณะเดียวกันกับในภาพตัดต่อ เผยให้เห็นว่ามีผู้ชม 2,745 คนในขณะนั้น
ในการกล่าวปราศรัยอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่กลับมายังประเทศไทย ทักษิณกล่าวถึงวิสัยทัศน์ 14 ข้อ ซึ่งเป็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยที่น่าจะถูกดำเนินการโดยรัฐบาลภายใต้การนำของแพทองธาร
สำนักข่าวเนชั่นซึ่งเป็นผู้จัดงาน 'Vision for Thailand 2024' ที่ทักษิณขึ้นปราศรัย รายงานว่าวิดีโอการปราศรัยของอดีตนายกฯ นั้น มียอดผู้ชมรวมกันสูงสุดถึง 2.5 ล้านคนในทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นยอดจากรายการโทรทัศน์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ และเว็บไซต์รวมกัน (ลิงก์บันทึก)
"เรายืนยันว่ามีผู้ชมการปราศรัยของทักษิณรวมกันทั้งสิ้น 2.5 ล้านครั้งในทุกแพลตฟอร์ม" ตัวแทนของทีมสื่อสารการตลาดของเนชั่นกล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567
การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ซึ่งชี้ว่าภาพตัดต่อดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเสียดสี
"เพจนี้ดักควายบ่อยครับ ผมได้เงินทุกโพสต์" ผู้ใช้งานเฟสบุ๊กเจ้าของโพสต์ดังกล่าวระบุในช่องแสดงความคิดเห็น โดยผู้ใช้งานบัญชีนี้มักแชร์เนื้อหาที่สนับสนุนทักษิณและพรรคเพื่อไทยเป็นประจำ
นอกจากนี้ เขายังอธิบายเพิ่มว่า ตัวเลข 3 หลักสุดท้ายในภาพตัดต่อหรือ "319" ตรงกับจำนวนโหวตสนับสนุนให้แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมอีกด้วย (ลิงก์บันทึก)
ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับทักษิณที่นี่ นี่ และนี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา