วิดีโอแม่น้ำทางตอนเหนือของจีนถูกแชร์อย่างผิด ๆ ว่าเป็นภาพน้ำท่วมในไทยและลาวหลัง 'เขื่อนจีนแตก'

วิดีโอที่แสดงแม่น้ำไหลเชี่ยวทางตอนเหนือของประเทศจีนถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ในบริบทที่เป็นเท็จ หลังเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันในไทย พร้อมคำเตือนว่าประเทศไทยและลาวต้องเตรียมรับมือมวลน้ำหลังเขื่อนแตกในจีน อย่างไรก็ตาม แม่น้ำที่ปรากฏในวิดีโอนั้นไม่ได้เชื่อมต่อกับประเทศไทยหรือลาวตามคำกล่าวอ้างเท็จแต่อย่างใด

"ด่วน!! จีนเริ่มระบายน้ำลง '#แม่น้ำโขง' แล้ว เตรียมรับมือน้ำท่วม เอ่อล้นในหลายจังหวัด" โพสต์ X เขียนข้อความภาษาไทยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567

โพสต์ดังกล่าวแชร์วิดีโอที่เผยให้เห็นแม่น้ำไหลเชี่ยวผ่านเมืองแห่งหนึ่ง โดยโพสต์นี้ถูกรีโพสต์กว่า 10,000 ครั้ง และได้รับการกดถูกใจกว่า 4,100 ครั้ง

ข้อความที่ฝังอยู่ในวิดีโอระบุว่า "เขื่อนจีนแตก น้ำไหลทะลักท่วมไทย ท่วมลาว"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

วิดีโอนี้ถูกแชร์อย่างแพร่หลายหลังฝนตกหนักในไทยและลาว ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2567 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยระบุว่า มีผู้เสียชีวิตสะสมแล้วอย่างน้อย 30 รายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายเดือนสิงหาคม (ลิงก์บันทึก)

โพสต์ที่แชร์วิดีโอดังกล่าวและคำกล่าวอ้างคล้ายกันนี้ยังปรากฏในภาษาไทยที่นี่ และนี่ ภาษาญี่ปุ่นที่นี่ และนี่ และภาษาจีนที่นี่

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำข้ามพรมแดนที่ไหลผ่านหลายประเทศ รวมถึงภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ไทย และลาว

อย่างไรก็ตามแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวในวิดีโอดังกล่าว เป็นแม่น้ำอีกสายที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจีนที่มีรายงานน้ำท่วมเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน

น้ำท่วมแม่น้ำลั่ว

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล AFP พบวิดีโอเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่ในเน็ตอีส (NetEase) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเผยแพร่เนื้อหาออนไลน์ของจีน (ลิงก์บันทึก)

โพสต์ดังกล่าวเขียนคำบรรยายภาษาจีน ซึ่งระบุว่าวิดีโอนี้เป็นคลิปเหตุน้ำท่วมใกล้เมืองหยานอัน ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลส่านซีทางตอนเหนือของจีน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม

AFP สามารถระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของสถานที่ที่ปรากฏในคลิปได้ว่าเป็นบริเวณเทศมณฑลกันฉวนที่มีแม่น้ำลั่วพัดผ่าน

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลาย (ซ้าย) และภาพของเทศมณฑลกันฉวนที่ปรากฏใน Google Earth (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่สอดคล้องกัน:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างวิดีโอที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลาย (ซ้าย) และภาพของเทศมณฑลกันฉวนที่ปรากฏใน Google Earth (ขวา)

สถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CCTV) ระบุว่า ฝนตกในช่วงวันที่ 6-9 สิงหาคม ส่งผลให้แม่น้ำลั่วประสบน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2537 (ลิงก์บันทึก)

ลุ่มแม่น้ำที่ต่างกัน

เพียรพร ดีเทศ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ประจำองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนล ริเวอร์ส (International Rivers) ยืนยันกับ AFP ว่า แม่น้ำที่ปรากฏในวิดีโอนั้นไม่ได้เชื่อมต่อกับลุ่มแม่น้ำโขง

"แม่น้ำสองสายนี้มาจากคนละลุ่มแม่น้ำกัน" นางเพียรพรกล่าว

โครงการระบบติดตามเขื่อนแม่น้ำโขงได้เผยแพร่ภาพที่แสดงให้เห็นว่าแม่น้ำโขงนั้นไหลจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนลงสู่ลงประเทศลาวและไทย (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของแผนที่เสมือนจริงของแม่น้ำโขงในเว็บไซต์ของศูนย์สติมสัน โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายลูกศรสีแดงเพื่อเน้นให้เห็นตำแหน่งของมณฑลกังฉวนที่ปรากฏในวิดีโอ:

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของแผนที่เสมือนจริงของแม่น้ำโขงในเว็บไซต์ของศูนย์สติมสัน

AFP ไม่พบรายงานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับเหตุเขื่อนแตกในจีนในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 แต่อย่างใด

อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ประธานสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 9 กันยายนว่า "เขื่อนจีนแตกครั้งล่าสุดในเดือนกรกฎาคม และเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขง"

คำกล่าวอ้างคล้าย ๆ กันนี้ยังเคยถูกตรวจสอบโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย ซึ่งระบุว่า "ปัจจุบันยังไม่มีการรายงานข่าวเรื่องเขื่อนประเทศจีนแตกแต่อย่างใด" (ลิงก์บันทึก)

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างว่าเกิดเหตุการณ์เขื่อนแตกในประเทศจีนที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในประเทศไทย สามารถอ่านรายงานได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา