ภาพผู้หญิงช่วยแมวมาจากเหตุน้ำท่วมในมาเลเซีย ไม่ใช่ในไทย

ภาพของหญิงชาวมาเลเซียกำลังกอดแมวสี่ตัวท่ามกลางน้ำท่วมถูกแชร์อย่างกว้างขวางทางสื่อสังคมออนไลน์ในไทย พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพที่เกี่ยวกับเหตุน้ำท่วมในภาคเหนือของไทยจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นยางิในเดือนกันยายน 2567 แต่ที่จริงแล้ว ภาพนี้มาจากเหตุน้ำท่วมในรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2567 โดยผู้หญิงในภาพยืนยันกับ AFP ว่าเธอสามารถช่วยเหลือแมวทั้งสี่ตัวของเธอออกจากพื้นที่น้ำท่วมได้อย่างปลอดภัย

"แม่--เอ้ย น้ำตาจะไหลล ขอให้ทุกชีวิตปลอดภัย" ผู้ใช้งาน X บัญชีหนึ่งโพสต์ข้อความพร้อมกับติดแฮชแท็กเกี่ยวกับอุทกภัยในภาคเหนือ เช่น "น้ำท่วม" และ "น้ำท่วมเชียงราย" เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์มากกว่า 35,000 ครั้ง โดยในโพสต์ปรากฏภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์ภาพผู้หญิงคนหนึ่งขณะกอดแมวสี่ตัวเอาไว้บนเรือกู้ภัยท่ามกลางน้ำท่วม

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567

คำกล่าวอ้างเท็จนี้ปรากฏบนโลกออนไลน์หลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่จากพายุโซนร้อนที่ถล่มจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย

เหตุน้ำท่วมหนักและดินถล่มในหลายพื้นจากอิทธิพลของไต้ฝุ่นยางิในเดือนกันยายน 2567 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 700 รายในประเทศเวียดนาม ลาว ไทย และเมียนมา (ลิงก์บันทึก)

ภาพดังกล่าวและคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันถูกแชร์อย่างกว้างขวางบนสื่อสังคมออนไลน์ที่นี่  นี่ และนี่ 

นอกจากนี้ มีผู้ใช้งาน X บางรายที่แชร์ภาพเดียวกัน โดยอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ส่วนผู้หญิงและแมวในภาพเสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม ภาพนี้เป็นภาพของทันตแพทย์หญิงที่เข้าช่วยเหลือแมวของเธอจากเหตุน้ำท่วมในรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเธอยืนยันกับ AFP ว่าเธอและแมวปลอดภัยดี

น้ำท่วมซาบาห์ เดือนกรกฎาคม 2567 

การค้นหาภาพย้อนหลังและค้นหาด้วยคำสำคัญต่าง ๆ บนกูเกิล พบภาพเดียวกันนี้บนเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 โดยโพสต์ดังกล่าวเขียนแสดงความเสียใจกับประชาชนที่ต้องเผชิญความยากลำบากจากเหตุน้ำท่วมในอำเภอเปนัมปัง (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายภาพระบุว่า "ฟีบี้กำลังช่วยแมว"

อำเภอเปนัมปัง ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐซาบาห์ทางภาคตะวันออกของประเทศมาเลเซีย เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างรุนแรงหลังฝนตกหนักต่อเนื่องในวันที่ 30 มิถุนายน 2567

รายงานข่าวระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย และประชาชนจำนวน 296 คน จาก 97 ครัวเรือนต้องอพยพหนีน้ำท่วม (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับในโพสต์เฟซบุ๊ก (ขวา): 

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์เท็จ ซึ่งเป็นภาพที่บางส่วนถูกตัดออก (ซ้าย) และภาพต้นฉบับในโพสต์เฟซบุ๊ก (ขวา)

การค้นหาด้วยคำสำคัญอื่น ๆ เพิ่มเติมบนเฟซบุ๊ก พบอีกโพสต์หนึ่งซึ่งถูกแชร์ในวันเดียวกัน โดยระบุว่าผู้หญิงในภาพคือ ดร. ฟีบี้ ทันตแพทย์หญิงที่ทำงานในเมืองดนกองกอง อำเภอเปนัมปัง ประเทศมาเลเซีย (ลิงก์บันทึก)

"ใช่ค่ะ นี่คือภาพของฉันกับแมวของฉันเองค่ะ" ดร. ฟีบี้ แอนน์ ซีเฟอร์ กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567

แมวทั้งสี่ตัวได้รับการช่วยเหลือออกมาจากพื้นที่น้ำท่วมอย่างปลอดภัยโดยถูกย้ายไปยังบ้านสองชั้นในละแวกใกล้เคียง ดร. ฟีบี้ระบุเพิ่มเติมว่า "ตอนนี้พวกเขาโอเคแล้วค่ะ"

เรื่องราวการช่วยเหลือแมวของเธอปรากฏในรายงานของสื่อท้องถิ่นในมาเลเซียที่นี่ นี่ และนี่ (ลิงก์บันทึกที่นี่ นี่ และนี่) 

อ่านรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP เกี่ยวกับไต้ฝุ่นยางิได้ที่นี่ และนี่ 

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา