คลิปดินถล่มในญี่ปุ่นถูกแชร์อย่างผิด ๆ ว่าเป็นภาพเหตุการณ์จากไต้ฝุ่นยางิปี 2567

คลิปเหตุการณ์ดินถล่ม ณ เมืองชายฝั่งแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นจากหลายปีก่อนถูกนำกลับมาแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์อีกครั้งในเดือนกันยายน 2567 โดยมียอดรับชมหลายแสนครั้ง คลิปดังกล่าวถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพเหตุการณ์หลังพายุไต้ฝุ่นยางิพัดถล่มพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศจีน เวียดนาม ลาว ไทย และพม่า อย่างไรก็ตาม คลิปต้นฉบับแสดงเหตุการณ์ดินถล่มในเมืองอาตามิ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกรกฎาคม 2564 และไม่มีความเกี่ยวข้องกับไต้ฝุ่นยางิ

ผู้ใช้งานติ๊กตอกแชร์วิดีโอฉบับหนึ่งที่เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 โดยวิดีโอฝังข้อความภาษาไทยไว้ว่า "น่ากลัวมาก"

คลิปดังกล่าวมีความยาว 21 วินาที และเผยให้เห็นดินถล่มลงมาตามไหล่เขา ส่งผลให้สายไฟ รถยนต์และอาคารบ้านเรือนเสียหาย โพสต์ดังกล่าวมียอดผู้ชมแล้วกว่า 350,000 ครั้ง

คำบรรยายของวิดีโอยังระบุแฮชแท็ก "น้ำท่วมปี 2567" และ "น้ำท่วมเชียงราย" ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือของไทยหลังเกิดพายุไต้ฝุ่นยางิ โดยประชาชนในพื้นที่ระบุว่าเป็นอุทกภัยที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ (ลิงก์บันทึก)

เมื่อต้นเดือนกันยายน 2567 ไต้ฝุ่นยางิพัดผ่านทางตอนใต้ของจีน เวียดนาม ลาว และพม่า ฝนตกหนักและลมแรงทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 700 คน ทางการระบุ (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ติ๊กตอกที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คลิปเดียวกันนี้ยังถูกสลับด้าน และถูกแชร์ร่วมกับคลิปอื่น ๆ ทาง X และติ๊กตอก พร้อมคำกล่าวอ้างว่า คลิปเหล่านี้แสดงภาพจากอิทธิพลของไต้ฝุ่นยางิในจีนและเวียดนาม

แต่คลิปวิดีโอดังกล่าวไม่ได้แสดงเหตุการณ์จากอิทธิพลของไต้ฝุ่นยางิ โดย AFP เคยตรวจสอบคลิปดังกล่าว ซึ่งถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จในบริบทอื่นที่นี่ และ นี่

ในความเป็นจริงแล้ว คลิปนี้แสดงให้เห็นเหตุการณ์ดินถล่มในเมืองชายฝั่งของญี่ปุ่นในปี 2564

เหตุดินถล่มในอาตามิ

การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมของวิดีโอในกูเกิล พบคลิปเดียวกันปรากฏในช่องยูทูบของหนังสือพิมพ์ซันเคอิ (Sankei News) ของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 (ลิงก์บันทึก)

คลิปดังกล่าวที่ปรากฏในลิงก์ยูทูบนั้นมีความยาวกว่าคลิปถูกเผยแพร่ในโพสต์เท็จ และมีการระบุว่าเป็นคลิปจากสำนักข่าวอายเพรส (EyePress)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และคลิปที่ถูกเผยแพร่ในยูทูบของหนังสือพิมพ์ซันเคอิ (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และคลิปที่ถูกเผยแพร่ในยูทูบของหนังสือพิมพ์ซันเคอิ (ขวา)

คำบรรยายของวิดีโอระบุว่า ภาพที่ปรากฏคือเหตุดินถล่มในย่านอิซุซัน เมืองอาตามิ จังหวัดชิซุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564

AFP รายงานว่า เกิดเหตุดินโคลนถล่มในเมืองอาตามิหลังฝนตกหนักมาหลายวัน (ลิงก์บันทึก)

เมืองอาตามิตั้งอยู่ห่างจากโตเกียวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 90 กิโลเมตร โดยช่วง 48 ชั่วโมงก่อนจะเกิดดินโคลนถล่ม เมืองอาตามิวัดปริมาณฝนตกได้ 313 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคมซึ่งอยู่ที่ 242.5 มิลลิเมตร สถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่นระบุ

เหตุดินถล่มครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 27 ราย

ภาพถ่ายกูเกิลสตรีทวิวจากเดือนมิถุนายน 2562 แสดงให้เห็นอาคารสีน้ำตาลแดงหลังเดียวกันกับอาคารในคลิป (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างอาคารที่ปรากฏในโพสต์ปลอม (ซ้าย) และอาคารที่ปรากฏในกูเกิลสตรีทวิว (ขวา) โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบที่สอดคล้องกัน:

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างอาคารที่ปรากฏในโพสต์ปลอม (ซ้าย) และอาคารที่ปรากฏในกูเกิลสตรีทวิว (ขวา)

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่นยางิที่นี่ และ นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา