วิดีโอเก่าจากเมื่อ 10 ปีก่อนที่เนปาล ถูกนำกลับมาแชร์ใหม่หลังเหตุแผ่นดินไหวทิเบตในปี 2568

  • เผยแพร่ วันที่ 14 มกราคม 2025 เวลา 09:41
  • อัพเดตแล้ว วันที่ 14 มกราคม 2025 เวลา 10:14
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในทิเบตเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 126 ราย ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์คลิปวิดีโอที่แสดงภาพเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงจนอนุสรณ์สถานตรงวงเวียนแห่งหนึ่งพังถล่มลงมา โดยอ้างอย่างผิด ๆ ว่าคลิปดังกล่าวบันทึกเหตุแผ่นดินไหวในทิเบตครั้งล่าสุด อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอดังกล่าวถ่ายเหตุแผ่นดินไหวที่กรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล และเป็นเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2558

คลิปวิดีโอนี้ถูกแชร์ในโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 พร้อมคำบรรยายที่ระบุว่า: "จำนวนเหยื่อแผ่นดินไหวในทิเบตเพิ่มขึ้นเป็น 32 ราย บาดเจ็บ 38 ราย"

"จากการสำรวจทางธรณีวิทยา ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากเมือง Shigatse 163 กม. มีประชากรประมาณ 80,000 คน เนื่องจากอาจเกิดแรงสั่นสะเทือนซ้ำๆ ได้ การอพยพประชากรจึงดำเนินต่อไป"

วิดีโอดังกล่าวมีความยาวเกือบ 1 นาทีและแสดงภาพเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่ทำให้อนุสรณ์สถานตรงวงเวียนพังถล่มลงมา

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์หลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในทิเบตตอนเช้าวันที่ 7 มกราคม 2568 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 126 รายและบาดเจ็บ 188 ราย แผ่นดินไหวดังกล่าวโจมตีพื้นที่ชนบทของอำเภอถิงรี (Tingri) ซึ่งอยู่ห่างจากยอดเขาเอเวอเรสต์ออกไปทางเหนือราว 80 กิโลเมตร ในบริเวณพรมแดนของจีนกับเนปาล (ลิงก์บันทึก)

ศูนย์เครือข่ายแผ่นดินไหวแห่งชาติจีน (CENC) วัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ที่ 6.8 ขณะที่สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) รายงานว่าความรุนแรงอยู่ที่ 7.1 โดยแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวสามารถรับรู้ได้ไกลถึงประเทศเนปาลและอินเดีย

นอกจากนี้ ยังพบว่าสำนักข่าวไทยอย่างวันนิวส์ได้เผยแพร่วิดีโอดังกล่าวอย่างผิด ๆ ในรายงานเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในทิเบตที่นี่ และ นี่ และยังพบโพสต์ที่แชร์วิดีโอดังกล่าวพร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในภาษาอื่น เช่นภาษาอังกฤษ  ฮินดี  ทมิฬ และ สเปน

เหตุการณ์จากปี 2558

การค้นหาภาพย้อนหลังด้วยคีย์เฟรมของวิดีโอ พบวิดีโอเดียวกันถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์เดอะการ์เดียน หนังสือพิมพ์ของอังกฤษตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2558 (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายวิดีโอเขียนว่า "แผ่นดินไหวในเนปาลทำให้สิ่งก่อสร้างถล่มลงมาตรงวงเวียนที่มีคนเดินทางพลุกพล่าน -- วิดีโอ"

รายงานระบุว่า วิดีโอดังกล่าวบันทึกเหตุการณ์ในพื้นที่ตริปูเรชวอร์ กาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่เดอะการ์เดียนเผยแพร่ (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และวิดีโอที่เดอะการ์เดียนเผยแพร่ (ขวา)

นอกจากนี้ คลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดยังระบุเวลาที่มุมขวาบนด้วยว่า "2015-04-25"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอ โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นให้เห็นประทับเวลาตรงมุมขวาบนของวิดีโอ

ในเดือนเมษายน ปี 2558 เกิดแผ่นดินไหวในประเทศเนปาลด้วยความรุนแรงระดับ 7.8 ริกเตอร์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 9,000 รายและบาดเจ็บมากกว่า 22,000 ราย และสร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือนกว่าครึ่งล้านหลัง

ภัยพิบัติครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับโรงเรียนเกือบ 8,000 แห่ง และทำให้เด็กเกือบหนึ่งล้านคนไม่มีห้องเรียน

นอกจากนี้ สถานที่สำคัญทางท่องเที่ยวในเนปาล ซึ่งรวมถึงอนุสรณ์สถานหลายร้อยแห่ง พระราชวัง และแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกในหุบเขากาฐมาณฑุ ล้วนได้รับความเสียหาย

AFP สามารถยืนยันตำแหน่งของสถานที่ในวิดีโอด้วยการเปรียบเทียบคีย์เฟรมในวิดีโอกับภาพถ่ายของวงเวียนในกาฐมาณฑุที่ถูกแท็กไว้ในกูเกิล (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพถ่ายที่ถูกแท็กไว้ในแผนที่กูเกิล (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพถ่ายที่ถูกแท็กไว้ในแผนที่กูเกิล (ขวา)

นอกจากนี้ วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวยูโรนิวส์ทางยูทูบเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 ด้วย (ลิงก์บันทึก)

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในทิเบต มีการแชร์ภาพหรือวิดีโอพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพจากเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมาก สามารถอ่านรายงานตรวจสอบของ AFP ได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา