ภาพ 'ไฟไหม้คลังสินค้าเทมู' ถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลกแชร์ภาพที่สร้างจากปัญญาประดิษฐ์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพเหตุเพลิงไหม้คลังสินค้าของเทมู (Temu) บริษัทอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่สัญชาติจีน เจ้าของภาพบอกกับ AFP ว่าภาพดังกล่าวเป็นแค่มุกตลก และไม่พบรายงานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว

"คลังสินค้าของ Temu ที่จีนเกิดเพลิงไหม้ มูลค่าความเสียหายประมาณ 56.19 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 1915 บาท" ผู้ใช้งาน X รายหนึ่งโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2567

รูปภาพในโพสต์แสดงเหตุไฟไหม้คลังสินค้าของเทมู แอปพลิเคชันขายสินค้าออนไลน์ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือของบริษัทอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่อย่างพินตัวตัว หรือ PDD Holdings ที่จำหน่ายสินค้าราคาถูกให้กับลูกค้าทั่วโลก (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568

ภาพดังกล่าวถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียวกันในโพสต์ภาษาอังกฤษ เกาหลี ตากาล็อก และฝรั่งเศส โดยมีผู้ใช้งานหลายรายที่เชื่อว่านี่เป็นภาพของเหตุการณ์จริง

ภาพจากเอไอ

มีองค์ประกอบหลายจุดที่ระบุได้ว่าเป็นภาพที่สร้างจากเอไอ โดยเฉพาะลายน้ำ "Grok" ที่มุมขวาล่างของภาพ ซึ่งเป็นชื่อของแชตบอตเอไอที่พัฒนาโดยบริษัท xAI ของอีลอน มัสก์

นอกจากนี้ ยังพบการสะกดชื่อแบรนด์ผิดจาก "Temu" เป็น "Tehu" และโลโก้ในภาพที่ไม่ตรงกับโลโก้ทางการของบริษัท (ลิงก์บันทึก

Image

ปัจจุบันยังไม่มีวิธียืนยันรูปที่สร้างจากเอไอที่สามารถใช้ได้ผลในทุกกรณี แต่การสังเกตลายน้ำและองค์ประกอบภาพถือเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากรูปที่สร้างจากเอไอยังมีความไม่สมบูรณ์แม้จะมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดก็ตาม

'แค่มุกตลก'

การค้นหาภาพย้อนหลังบนกูเกิลพบภาพเดียวกันถูกเผยแพร่บนบัญชี X ของผู้ใช้งานชื่อ @DocAtCDI ซึ่งแชร์ภาพนี้พร้อมกับข้อความเชิงขบขัน (ลิงก์บันทึก)

"เกิดเหตุเพลิงไหม้คลังสินค้าขนาด 5,296 ตารางเมตรของเทมูในจีนวันนี้ มูลค่าความเสียหายสูงถึงราว 56.19 ดอลลาร์สหรัฐ" ข้อความในโพสต์ดังกล่าวระบุ

เจ้าของโพสต์ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2568 ว่าเขาสร้างรูปนี้ด้วยเอไอ

"มีลายน้ำอยู่ที่มุมขวาล่างเพื่อที่คนจะได้รู้ว่ารูปนี้สร้างโดยเอไอ" เขากล่าว "มันเป็นแค่มุกตลกเท่านั้น"

บัญชีเดียวกันนี้ยังโพสต์รูปไฟไหม้อาคารเทมูรูปอื่น ๆ ซึ่งสร้างจากเอไอเช่นกัน

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของรูปภาพจากเอไอในลักษณะเดียวกัน บันทึกภาพวันที่ 3 มกราคม 2568

การค้นหาด้วยคำสำคัญต่าง ๆ ยังพบโพสต์ก่อนหน้าที่แชร์รูปเหตุไฟไหม้คลังสินค้าเทมูอื่น ๆ โดยมีลายน้ำของ Grok และข้อความบรรยายภาพแบบเดียวกันอีกด้วย (ลิงก์บันทึก)

องค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างสโนป์สระบุด้วยว่า วอเตอร์ฟอร์ด วิซเปอร์ส นิวส์ (Waterford Whispers News) ช่องยูทูบของชาวไอร์แลนด์ที่ผลิตเนื้อหาแนวเสียดสี ได้โพสต์วิดีโอลักษณะเดียวกันว่าเกิดเหตุไฟไหม้คลังสินค้าเทมูเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

ณ วันที่ 14 มกราคม 2568 ยังไม่พบรายงานทางการใด ๆ ที่ยืนยันได้ว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้คลังสินค้าของบริษัทเทมู

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา