ภาพถ่ายเก่าจากเหตุแผ่นดินไหวในตุรกีถูกนำมาแชร์อย่างผิด ๆ ว่าเป็นเหตุแผ่นดินไหวในทิเบต
- เผยแพร่ วันที่ 14 มกราคม 2025 เวลา 10:01
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Carina CHENG, AFP ฮ่องกง, AFP ประเทศไทย
- แปลและดัดแปลง โดย Chayanit ITTHIPONGMAETEE
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"Jan 7, 2025 ด่วน! เสียชีวิตเพิ่มอีกกว่า 95 ราย บาดเจ็บกว่า 130 ราย ตึก-บ้านเสียหายกว่า 1,000 หลัง แผ่นดินไหวรุนแรง 6.8-7.1 แมกนิทูดในทิเบต สั่นถึงอินเดีย เนปาล ภูฏาน แผ่นดินไหวรุนแรงมากครั้งแรกของปี 2025" ส่วนหนึ่งของคำบรรยายในโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ระบุ
โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพอาคารที่พังถล่มลงมา
ภาพเดียวกันยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้าย ๆ กันในโพสต์ภาษาไทยอื่น ๆ ที่นี่ และนี่ และโพสต์ในภาษาอังกฤษ ฮินดี ฝรั่งเศส และ เวียดนาม โดยโพสต์เหล่านี้เริ่มปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์หลังเกิดแผ่นดินไหวในทิเบตเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 126 ราย (ลิงก์บันทึก)
ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้มีผู้บาดเจ็บอีก 188 คน รวมถึงสร้างความเสียหายกับอาคารหลายพันหลังในพื้นที่ชนบทของอำเภอถิงรี (Tingri) ซึ่งอยู่ห่างจากยอดเขาเอเวอเรสต์ไปทางเหนือราว 80 กิโลเมตร ใกล้กับพรมแดนของจีนกับเนปาล
แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในทิเบตสามารถรับรู้ได้ไกลถึงประเทศเนปาลและอินเดีย แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบสำคัญต่อสองประเทศดังกล่าว
ศูนย์เครือข่ายแผ่นดินไหวแห่งชาติจีน (CENC) วัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ที่ขนาด 6.8 ขณะที่สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) รายงานตัวเลขความรุนแรงขนาด 7.1
อย่างไรก็ตาม การค้นภาพแบบย้อนหลังในกูเกิลพบภาพต้นฉบับปรากฏในเว็บไซต์คลังภาพอันสแปลช (Unsplash) โดยช่างภาพชื่อ เชอร์ลาร์ ออสเคย์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 (ลิงก์บันทึก)
คำบรรยายเขียนอธิบายว่าภาพดังกล่าวถูกบันทึกที่อำเภออิสเกนเดรุน เมืองฮาไต ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566
AFP ใช้ป้ายร้านค้าที่ปรากฏในภาพเป็นเบาะแสในการยืนยันสถานที่ และพบว่าภาพดังกล่าวถ่ายไว้ที่อาคารเลขที่ 86 ถนนซียาโกคัลป์ อำเภออิสเคนเดรุน เมืองฮาไต ประเทศตุรกี (ลิงก์บันทึก)
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ในพื้นที่ทางตอนใต้ของตุรกีซึ่งมีพรมแดนติดกับซีเรีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 500,000 ราย (ลิงก์บันทึก)
อาคารกว่า 850,000 หลังพังถล่มลงมาจากแผ่นดินไหวระลอกแรก ก่อนที่จะเกิดอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายพันครั้งตามมา (ลิงก์บันทึก)
หนึ่งปีถัดมา ผู้รอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวนับแสน ๆ ยังต้องศัยอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ และถูกระบุสถานะว่าเป็นผู้พลัดถิ่น
หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในทิเบต ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์ภาพหรือวิดีโอพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ โดย AFP ได้เขียนรายงานไว้ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา