![](/sites/default/files/medias/factchecking/g2/2025-02/34ad2d1194451f3c8039518b225e0e8d.jpeg)
วิดีโอเก่าถูกนำมาแชร์ในโพสต์เท็จว่าแรงงานเมียนมาประท้วงขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
- เผยแพร่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2025 เวลา 11:04
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Pasika KHERNAMNUOY, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
วิดีโอในโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568 ถูกเผยแพร่พร้อมข้อความ "พม่าขอขึ้นค่าแรงเป็น 700 บาท"
คำบรรยายโพสต์ชี้ว่าค่าแรงขั้นต่ำในไทยอยู่ที่ 350 บาท พร้อมย้ำว่า "คนไทยได้ 350 พม่าจะเอา 700" (ลิงก์บันทึก)
วิดีโอดังกล่าวซึ่งมียอดรับชมมากกว่า 1.3 ล้านครั้ง แสดงภาพกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากที่ปักหลักอยู่หน้าอาคาร รวมถึงเสียงของชายในคลิปที่พูดเป็นภาษาพม่าว่า "พวกเรารอกันมาทั้งวันและเหนื่อยล้าแล้ว"
"ในเมื่อข้อเรียกร้องของเราได้รับการตอบรับ คนงานกะกลางคืนก็ไปทำงาน ส่วนพวกกะกลางวันก็กลับไปพักผ่อน โอเคไหม ขอบคุณมากทุกคน"
![](/sites/default/files/styles/image_in_article/public/medias/factchecking/g2/2025-02/e3a897314996a0ca8d77a3b6cf29f418.jpeg?itok=3EoSSEoe)
โพสต์เท็จลักษณะเดียวกันถูกนำไปแชร์อย่างแพร่หลายทั้งบน X และติ๊กตอก
"พม่ามันจะยึดประเทศไทยอยู่แล้ว" ความคิดเห็นหนึ่งระบุ ส่วนอีกความเห็นกล่าวว่า "350 มึงไม่เอาก็ออกไป"
คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ภายหลังองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เผยแพร่รายงานเรื่อง "ปรากฏการณ์กระแสต่อต้านแรงงานข้ามชาติและการผลิตวาทะสร้างความเกลียดชังที่มุ่งโจมตีชาวเมียนมาพุ่งสูงขึ้น" (ลิงก์บันทึก)
รายงานดังกล่าวระบุว่า "มีความพยายามเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนสื่อสังคมออนไลน์" และนี่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กระแสความเกลียดชังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
IOM รายงานว่าปัจจุบันมีแรงงานเมียนมาที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องในประเทศไทย 2.3 ล้านคน และยังมีแรงงานนอกระบบอีก 1.8 ล้านคน (ลิงก์บันทึก)
เมียนมาตกอยู่ในภาวะสงครามหลังจากที่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่งผลให้ชาวเมียนมาหลายล้านคนต้องหนีมาหางานในไทยและมักถูกบีบให้ทำงานความเสี่ยงสูงหรืองานสกปรกในภาคการก่อสร้าง การผลิต และการเกษตร (ลิงก์บันทึก)
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ วิดีโอดังกล่าวแสดงเหตุการณ์ที่แรงงานเมียนมาประท้วงค่าต่อวีซ่าสูงเกินจริง และไม่มีความเกี่ยวข้องกับการขอขึ้นค่าแรงแต่อย่างใด
ค่าใช้จ่ายของแรงงานข้ามชาติ
การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมของวิดีโอในโพสต์เท็จพบคลิปวิดีโอเดียวกันถูกแชร์เป็นครั้งแรกในโพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 (ลิงก์บันทึก)
![](/sites/default/files/styles/image_in_article/public/medias/factchecking/g2/2025-02/dec1636a92d254c965b707be9781bfad.jpeg?itok=2JsqzAnA)
ผู้ใช้งานติ๊กตอกยืนยันกับ AFP ว่าเป็นคนบันทึกวิดีโอดังกล่าว ซึ่งแสดงเหตุชุมนุมภายในบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจอาหารแปรรูปประเภทไก่สดและไก่แช่แข็งแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์
"ฉันไม่รู้เรื่องขอขึ้นค่าแรงเป็น 700 บาทเลย พวกเราไม่เคยเรียกร้องสิ่งนี้มาก่อน" เขากล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568
การค้นหาด้วยคำสำคัญอื่น ๆ พบวิดีโอลักษณะคล้ายกันเผยแพร่ในรายงานข่าวเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 เกี่ยวกับกรณีพิพาทระหว่างแรงงานเมียนมากับบริษัทไทยในเพชรบูรณ์กรณี "ค่าต่อพาสปอร์ต-วีซ่าสูงเกินจริง" (ลิงก์บันทึก)
![](/sites/default/files/styles/image_in_article/public/medias/factchecking/g2/2025-02/7e075b6ff1ed4deee824a7f5fa3c7a1e.jpeg?itok=_3if66ph)
การชุมนุมยุติด้วยความสงบหลังบริษัทตกลงว่าจะปรับลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จาก 11,500 บาท เหลือ 6,000 บาท
ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ไม่พบรายงานที่น่าเชื่อถือใดที่ยืนยันได้ว่าแรงงานข้ามชาติในไทยชุมนุมเรียกร้องขอเพิ่มค่าแรงเป็น 700 บาท
กลุ่มแรงงานเมียนมาบอกกับ AFP ว่า "ไม่มีรายงาน" เกี่ยวกับการเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงในไทยตามคำกล่าวอ้างเท็จแต่อย่างใด
สามารถอ่านรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นคำกล่าวอ้างเท็จที่มุ่งโจมตีแรงงานเมียนมาในลักษณะเดียวกันได้ที่นี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา