ภาพเก่าถูกแชร์ในโพสต์เท็จว่าแรงงานพม่าเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 700 บาท

  • เผยแพร่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2025 เวลา 10:10
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหารในเมียนมา ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยจำนวนหนึ่งได้แชร์ภาพการชุมนุมพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า เป็นภาพแรงงานข้ามชาติจากเมียนมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำวันละ 700 บาท อย่างไรก็ตาม ภาพเหล่านี้เป็นภาพเก่าจากการชุมนุมประท้วงในปี 2564 และ 2567 นอกจากนี้ AFP ไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่ระบุว่าแรงงานเมียนมาในไทยได้ออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องขึ้นค่าแรง 700 บาท

"วันนี้ แรงงานพม่าในไทยเหิมเกริมมากเกิน ทำการเดินขบวนชุมนุมที่หน้าสนง.ยูเอ็น" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายในโพสต์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568

คำบรรยายโพสต์ระบุต่อว่า "ส่วนที่แรงงานพม่าเรียกร้อง 700 บาท เอกชนคนไหนรวยเชิญตามสบาย ไปหา สส.ที่เชียร์แรงงานพม่าน่าจ่ายไหว คนไทย 400 บาทยังยากเลย แรงงานอยู่ได้ เอกชนเจ๊งปิดโรงงาน"

โพสต์ดังกล่าวยังแชร์ภาพถ่ายการประท้วงที่มีธงชาติเมียนมาจำนวน 3 ภาพ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

โพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวได้รับการกดถูกใจมากกว่า 9,000 ครั้ง และถูกแชร์กว่า 15,000 ครั้ง ขณะที่โพสต์อื่นๆ ที่แชร์ภาพเหล่านี้พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันยังปรากฏที่นี่ และ นี่

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นักกิจกรรมชาวไทยและเมียนมาได้รวมตัวกันที่หน้าสถานทูตเมียนมาในกรุงเทพฯ เพื่อรำลึกวันครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหารในเมียนมา

Image
นักกิจกรรมชาวไทยถือป้ายประท้วงระหว่างการประท้วงเนื่องในโอกาสวันครบรอบ 4 ปีรัฐประหารเมียนมา ณ สถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 (AFP / Lillian SUWANRUMPHA)

ขณะเดียวกัน กลุ่ม "ไทยไม่ทน" ซึ่งเป็นกลุ่มทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมและชาตินิยม ได้ชุมนุมกันหน้าสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UN) เพื่อต่อต้านข้อเรียกร้องของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา (ลิงก์บันทึก)

ผู้ประท้วงของกลุ่มไทยไม่ทนอ้างว่า แรงงานเมียนมาได้เรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น "600-700 บาท" ซึ่งสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทยที่ 400 บาทต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ภาพที่ถูกแชร์ทั้งหมดเป็นภาพเก่า และไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในปี 2568

ภาพแรก

การค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิล พบว่า 2 ภาพแรกมาจากการประท้วงในปี 2564 และถูกเผยแพร่โดยกลุ่ม Milk Tea Alliance Thailand ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2563

บัญชี Milk Tea Alliance Thailand ได้เผยแพร่ภาพดังกล่าวในโพสต์ X เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 พร้อมคำบรรยายว่า "สู้เพื่อประชาธิปไตย" (ลิงก์บันทึก)

ตัวแทนจากกลุ่ม Milk Tea Alliance Thailand ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า ภาพดังกล่าวมาจากการประท้วงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งผู้ประท้วงเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังบ้านพักของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

มีผู้ชุมนุมร่วมเดินขบวนราว 2,000 คน รวมถึงแรงงานเมียนมาที่ร่วมประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐประหารในประเทศตนเองด้วย

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่ถูกแชร์ในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับที่ถูกเผยแพร่โดย Milk Tea Alliance Thailand ในปี 2564

ภาพที่ 2

ภาพที่ 2 ถูกเผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊กของ Milk Tea Alliance Thailand เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 (ลิงก์บันทึก)

"ภาพนี้ถูกถ่ายเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ระหว่างการประท้วงต่อต้านเผด็จการไทยและเมียนมา" ตัวแทนจากกลุ่ม Milk Tea Alliance Thailand ยืนยันกับ AFP

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่ถูกแชร์ในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับที่ถูกเผยแพร่โดย Milk Tea Alliance Thailand ในปี 2564

ภาพดังกล่าวแสดงการประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง ท่ามกลางวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 (ลิงก์บันทึก)

ภาพที่ 3

AFP พบว่าภาพที่ 3 ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในโพสต์ X เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 โดยโพสต์ดังกล่าวได้เขียนคำบรรยายพร้อมแฮชแท็ก #BangkokPride2024 (ลิงก์บันทึก)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างรูปที่แชร์ในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับที่แสดงภาพขบวนบางกอกไพรด์เมื่อปี 2567 (ขวา)

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2658 มีการจัดงานบางกอกไพรด์ในกรุงเทพฯ โดยผู้เข้าร่วมขบวนได้ออกมาเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) สมรสเท่าเทียม รวมถึงการสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมาและดินแดนปาเลสไตน์

ผู้ใช้ X ดังกล่าวได้แชร์คำอธิบายชุดข้อมูล (Metadata) ของภาพกับ AFP ซึ่งยืนยันว่าภาพดังกล่าวถูกถ่ายเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567

ไม่มีรายงานว่าแรงงานเมียนมาประท้วงเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 700 บาท

AFP ไม่พบรายงานที่น่าเชื่อถือใด ๆ ที่ยืนยันว่าแรงงานเมียนมาในประเทศไทยได้ออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 700 บาท

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Worker Group) ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า "ไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการ" ว่าแรงงานเมียนมาในประเทศไทยรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 700 บาท

วีระ แสงทอง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานเมียนมาในไทยจากกลุ่ม Bright Future ระบุกับ AFP ว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 เขาได้ยื่นจดหมายเรียกร้อง 6 ข้อต่อหน่วยงานสหประชาชาติในกรุงเทพฯ 

ข้อเรียกร้องเหล่านี้รวมถึงการรับรองบัตรชมพู (บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย) การเร่งช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมบริเวณชายแดนเมียนมา และการเรียกร้องให้สหประชาชาติคว่ำบาตรการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาปี 2568

วีระระบุว่า "ไม่มีข้อไหนเลยที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 700 บาท"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของแถลงการณ์ที่กลุ่ม Bright Future ส่งถึงหน่วยงานสหประชาชาติ

AFP พบว่าคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับ "ค่าแรง 600-700 บาท" มีที่มาจากคลิปสัมภาษณ์ของวีระ ระหว่างการชุมนุมวันแรงงานข้ามชาติสากลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 อย่างไรก็ตาม คำพูดดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการของแรงงานเมียนมาในประเทศไทย (ลิงก์บันทึก)

กระทรวงแรงงานของไทยระบุว่า ค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ระหว่าง 337 - 400 บาทต่อวัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป (ลิงก์บันทึก)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา